คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับเดือนที่จำเลยกระทำผิดจากเดือนกรกฎาคม 2530 เป็นเดือนพฤษภาคม 2530 ซึ่งเป็นเดือนที่เกิดเหตุจริงตามที่พยานโจทก์เบิกความ เมื่อปรากฏว่าในตอนที่จำเลยให้การจำเลยเพียงแต่ให้การปฏิเสธลอย แม้จำเลยจะนำสืบว่าเดือนกรกฎาคม 2530 จำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำก็เป็นการถูกขังระหว่างสอบสวนในคดีนี้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยหลงต่อสู้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสอง, 340 ตรี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 15 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6พฤษภาคม 2530 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ผู้เสียหายได้ว่าจ้างให้จำเลยขี่รถจักรยานยนต์ไปส่งที่ซอยศูนย์วิจัย 4 เมื่อผู้เสียหายขึ้นนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ มีชายคนหนึ่งร้องบอกว่าจะไปซอยศูนย์วิจัย 6 ด้วย ขึ้นนั่งซ้อนหลังผู้เสียหาย จำเลยได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปถึงสี่แยกซอยศูนย์วิจัยได้เลี้ยวขวาเข้าตลาดศูนย์วิจัยไปประมาณ 10 เมตร ชายคนที่นั่งซ้อนท้ายหลังผู้เสียหายบอกให้หยุดรถ เมื่อจำเลยหยุดรถชายคนดังกล่าวใช้แขนรัดคอผู้เสียหายผู้เสียหายต่อสู้เมื่อสะบัดหลุดได้วิ่งหนีเข้าไปในซอยศูนย์วิจัย 14พบเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจซึ่งออกตรวจท้องที่นั่งรถยนต์สวนทางมาผู้เสียหายจึงได้แจ้งว่าถูกชิงทรัพย์และนำไปจับกุมจำเลยในข้อหาร่วมกับพวกชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย ที่จำเลยฎีกาว่า นายนฤทธิ์จันหิรัญ ผู้เสียหายเบิกความขัดกับความจริง มีพิรุธ และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ร่วมจับกุมจำเลยเบิกความแตกต่างขัดกัน พยานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลยนั้น ตามคำเบิกความของนายนฤทธิ์ จันหิรัญผู้เสียหายว่าวันเกิดเหตุผู้เสียหายยืนรอรถจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อจะกลับบ้านจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจากซอยศูนย์วิจัย ผู้เสียหายถามว่าเป็นรถรับจ้างใช่หรือไม่ จำเลยบอกว่าใช่ ผู้เสียหายจึงว่าจ้างให้ไปส่งในซอยศูนย์วิจัย 4 เมื่อผู้เสียหายขึ้นนั่งซ้อนท้าย มีเสียงตะโกนว่าไปซอย 6 ด้วย ชายคนหนึ่งขึ้นนั่งซ้อนท้ายหลังผู้เสียหาย เมื่อจำเลยขับขี่รถจักรยานยนต์ไปถึงสี่แยกซอยศูนย์วิจัยซึ่งไปซอยศูนย์วิจัย 4 จะต้องเลี้ยวซ้าย แต่จำเลยกลับขับขี่รถเลี้ยวขวาตรงไปทางตลาดศูนย์วิจัย จำเลยเบิกความว่า วันเกิดเหตุได้ขับขี่รถจักรยานยนต์มาถึงบริเวณที่จอดรถจักรยานยนต์รับจ้างผู้เสียหายกับชายอีกคนหนึ่งยืนอยู่ ได้ว่าจ้างให้จำเลยไปส่งที่ซอยศูนย์วิจัย 6 จำเลยมิได้ตกลงรับจ้าง ผู้เสียหายกับชายดังกล่าวขึ้นนั่งซ้อนท้าย เมื่อจำเลยขับขี่รถไปถึงตลาดศูนย์วิจัยชายคนที่นั่งซ้อนท้ายบอกให้หยุด ผู้เสียหายกับชายอีกคนลงจากรถเดินเข้าไปในซอยเห็นว่า เมื่อผู้เสียหายได้ว่าจ้างให้จำเลยขับขี่รถไปส่งที่ซอยศูนย์วิจัย 4 และชายอีกคนหนึ่งให้ไปส่งที่ซอยศูนย์วิจัย 6 ซึ่งตามแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 อยู่เหนือตลาดซอยศูนย์วิจัย ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายหรือชายคนที่ว่าจ้างให้ไปส่งที่ซอยศูนย์วิจัย 6 บอกให้จำเลยเลี้ยวเข้าไปในตลาดซอยศูนย์วิจัยแต่อย่างใด จำเลยกลับขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปในตลาดซอยศูนย์วิจัยจึงเป็นพิรุธ ผู้เสียหายว่าเมื่อจำเลยขับขี่รถเลี้ยวขวาเข้าไปได้ประมาณ 10 เมตร คนที่นั่งซ้อนท้ายหลังผู้เสียหายบอกว่าตรงนี้ จำเลยก็ดับเครื่องและหยุดรถ ชายคนที่นั่งหลังรัดคอผู้เสียหาย จำเลยเอี้ยวตัวมาล้วงเอากระเป๋าใส่เงินของผู้เสียหายไป ผู้เสียหายสะบัดหลุดวิ่งหนีไปสวนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจจึงได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและนำมาจับกุมจำเลย ร้อยตำรวจเอกสมบัติ ฉายาปัญจะ เบิกความว่า ได้สั่งให้สิบตำรวจเอกอำนวยตรวจค้นตัวจำเลย สิบตำรวจเอกอำนวย พึ่งทรัพย์เบิกความว่า ได้ทำการตรวจค้นพบกระเป๋าใส่เงิน 1 ใบ อยู่ในกระเป๋ากางเกงของจำเลย ผู้เสียหายยืนยันว่าเป็นของผู้เสียหายร้อยตำรวจเอกสมบัติจึงได้จับกุมจำเลย และยึดรถจักรยานยนต์กับกระเป๋าใส่เงินของผู้เสียหายเป็นของกลาง ปรากฏตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 สิบตำรวจเอกอำนายว่า ตรวจค้นตัวจำเลยพบกระเป๋าใส่เงิน 2 ใบ อีกใบหนึ่งเป็นของจำเลยและได้คืนให้จำเลยไป จำเลยมิได้โต้แย้งว่ากระเป๋าใส่เงินของกลางเป็นของจำเลยแต่อย่างใดแต่กลับรับว่ากระเป๋าใส่เงินพร้อมด้วยเงินของกลางเป็นของผู้เสียหายปรากฏตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย จ.4 พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์สอดคล้องต้องกัน เชื่อว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะร้อยตำรวจโทเจษฎา หุ่นเฮงเป็นรองสารวัตรปกครองป้องกันไม่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้รักษาราชการแทนเสียก่อนการที่สารวัตรใหญ่อนุญาตให้ทำการสอบสวนจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่าจำเลยมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับวันเกิดเหตุ เป็นการไม่ชอบเพราะจำเลยหลงต่อสู้นั้น เห็นว่าในตอนที่จำเลยให้การจำเลยเพียงแต่ให้การปฏิเสธลอย ในวันสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องในส่วนของเดือนเกิดเหตุจากเดือนกรกฎาคม 2530 เป็นเดือนพฤษภาคม 2530 ซึ่งเป็นเดือนที่เกิดเหตุจริงตามที่พยานโจทก์เบิกความ แม้จำเลยจะนำสืบว่าเดือนกรกฎาคม 2530 จำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครก็เป็นการถูกขังระหว่างสอบสวนคดีนี้นั่นเอง การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมิได้ทำให้จำเลยหลงต่อสู้…”
พิพากษายืน

Share