คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215-2234/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ หมวด 7 จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่หรือครูกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคสอง เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 ถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 จึงมีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 8 ได้โดยไม่จำต้องเสนอข้อขัดแย้งให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานวินิจฉัยชี้ขาดตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ ก่อน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 จึงมีอำนาจฟ้อง
โรงเรียนของจำเลยได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน (เพิ่มเติม) จากงบประมาณสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเพื่อปรับเงินเดือนให้ครู วันที่ 18 สิงหาคม 2548 จำเลยนำเงินอุดหนุนของเดือนเมษายน 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เข้าบัญชีโจทก์คนละ 12,222 บาท แล้วถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์คนละ 5,515.51 บาท ในวันเดียวกันโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งยี่สิบทราบวันที่ 30 สิงหาคม 2548 โจทก์ทั้งยี่สิบจึงไปร้องทุกข์ให้สอบสวนหาข้อเท็จจริง ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ถอนเงินออกจากบัญชีของโจทก์ทั้งยี่สิบโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งยี่สิบทราบตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นเวลาถึง 12 วัน จำเลยมีเวลาพอที่จะชี้แจงเหตุผลที่ถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์ทั้งยี่สิบได้แต่ก็ไม่กระทำ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกิดจากความบกพร่องของจำเลย และมีเหตุสมควรที่โจทก์ทั้งยี่สิบจะติดตามหาสาเหตุที่เงินในบัญชีของตนถูกถอนไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบจงใจทำให้ผู้รับใบอนุญาต (จำเลย) ได้รับความเสียหายและทำให้โรงเรียนของจำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ ข้อ 34 (2) (5) ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยจรรยา มรรยาท วินัย และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ ครูใหญ่ หรือครูโรงเรียนเอกชนฯ ข้อ 6 (5) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบด้วยเหตุนี้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบ
เมื่อจำเลยจ่ายเงินเพิ่มตามวุฒิเข้าบัญชีโจทก์ทั้งยี่สิบโดยใช้ฐานการคำนวณจากอัตราเดือนละ 900 บาท เป็นเงินคนละ 12,222 บาท แต่จำเลยได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนไม่ถึงอัตราเงินเพิ่มตามวุฒิ อีกทั้งจำเลยไม่ผูกพันต้องจ่ายเงินเพิ่มตามวุฒิในอัตราเดือนละ 900 บาท แก่โจทก์ทั้งยี่สิบ จำเลยชอบที่จะจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบตามสัดส่วนของเงินที่ได้รับ การที่จำเลยจ่ายเงินอุดหนุนให้โจทก์ทั้งยี่สิบเกินส่วนที่ได้รับโดยนำเงินของจำเลยสมทบเพิ่มไปด้วยจึงเป็นการจ่ายโดยผิดหลง จำเลยจึงชอบที่จะติดตามเอาเงินของจำเลยที่จ่ายสมทบเพิ่มคืน จำเลยชี้แจงเหตุผลแก่โจทก์ทั้งยี่สิบและครูทั้งโรงเรียนแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 และวันที่ 2 กันยายน 2548 ว่าจำเลยได้รับเงินอุดหนุนมาไม่พอ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบยังคงยืนยันร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยลักทรัพย์และยืนยันให้ดำเนินคดีแก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเป็นบุคคลไม่ยอมรับฟังเหตุผลและความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่เหมาะสมแก่การเป็นครู (อาจารย์) ผู้สั่งสอนถ่ายทอดความรู้และจริยธรรมให้แก่นักเรียนผู้เป็นศิษย์ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 6 กำหนดไว้ในข้อ (1) มิให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู จำเลยเป็นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน โจทก์ทั้งยี่สิบเป็นครู (อาจารย์) จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 จึงไม่ถูกต้อง ค่าชดเชยที่จำเลยต้องรับผิดจ่ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบต้องบังคับตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนฯ

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค 8 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 20
โจทก์ทั้งยี่สิบฟ้องเป็นใจความว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนครพณิชยการ โจทก์ทั้งยี่สิบทำงานกับจำเลยในตำแหน่งอาจารย์ประจำ โดยมีวันเข้าทำงานและอัตราเงินเดือนปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน จำเลยมีหน้าที่จ่ายเงินเพิ่มวุฒิตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการอุดหนุนเป็นเงินค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2545 ประกอบประกาศสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นเงินค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนในโรงเรียนเอกชน (เพิ่มเติม) ต้องจ่ายในอัตราเดือนละ 900 บาท ย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายน 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เป็นเงิน 12,600 บาท ให้โจทก์แต่ละคน เมื่อหักเงินสมทบที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วจำเลยต้องจ่ายเงินเพิ่มวุฒิให้โจทก์แต่ละคนเป็นจำนวน 12,222 บาท จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีโจทก์แต่ละคนในวันที่ 18 สิงหาคม 2548 และได้ถอนเงินบัญชีโจทก์แต่ละคนจำนวน 5,515.51 บาท ไปในวันเดียวกัน โจทก์ทั้งยี่สิบจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ทำการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและผู้กระทำความผิด จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งยี่สิบเพื่อให้ถอนคำร้องทุกข์แต่โจทก์ทั้งยี่สิบไม่ยินยอม วันที่ 21 กันยายน 2548 จำเลยจึงมีหนังสือประกาศเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 21 ตุลาคม 2548 โดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งยี่สิบจงใจทำให้จำเลยเสียหายและทำให้โรงเรียนของจำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียง การเลิกจ้างดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งยี่สิบสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า วันที่ 21 กันยายน 2548 คณะกรรมการบริหารของจำเลยมีมติให้เลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 34 โดยผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและแจ้งให้อาจารย์ใหญ่โรงเรียนของจำเลยทราบ วันเดียวกัน นางดวงแข อาจารย์ใหญ่มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบ อ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งยี่สิบจงใจทำให้ผู้รับใบอนุญาตได้รับความเสียหายและโรงเรียนของจำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2548 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 ขวนขวายใช้สิทธิเสนอข้อขัดแย้งตามสัญญาการเป็นครูเอกสารหมาย ล.25 ข้อ 11 แล้ว แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ยุติเรื่องเสียก่อนเพื่อรอผลคดีจึงไม่ปรากฏผลการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแต่ตกลงกันไม่ได้ แล้ววินิจฉัยว่าตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 34 กรณีเลิกสัญญาตามข้อ (4) ถึงข้อ (7) เท่านั้นที่ให้เสนอข้อขัดแย้งที่บอกเลิกสัญญาโดยผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ครูซึ่งเลิกสัญญาการเป็นครู เป็นระเบียบให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการประนีประนอม หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้คณะกรรมการประนีประนอมพิจารณาและสรุปความเห็นเสนอคณะกรรมการคุ้มครองพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดให้ครูพ้นจากหน้าที่ก็ให้เลิกสัญญาได้ จำเลยนำเหตุเลิกจ้างการเป็นครูตามข้อ “(2) จงใจทำให้ผู้รับใบอนุญาตได้รับความเสียหาย” มาระบุเป็นข้อ 11 ในแบบสัญญาจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 เพิ่มเติมนอกเหนือจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทเบื้องต้นเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของครู เมื่อไม่ได้ระบุว่าหากไม่ดำเนินการจะถูกตัดสิทธิอย่างไร และเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนหากรัฐมนตรีวินิจฉัยชี้ขาดแล้วให้ถือว่าเป็นที่สุดหรือไม่ ข้อตกลงนี้จึงเป็นสิทธิ หากไม่ใช้สิทธิก็ไม่ถูกตัดสิทธินำคดีมาสู่ศาล หลักเกณฑ์การจ่ายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 3 ตารางอัตราเงินเพิ่มตามวุฒิใหม่กำหนดวุฒิปริญญาตรีให้ได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 900 บาท ไม่ได้กำหนดว่าหากครูคนใดได้รับเงินเดือนเดือนละ 7,260 บาท แล้วไม่มีสิทธิได้รับหรือจะเพิ่มให้หรือไม่ก็ได้แบบฟอร์มที่จำเลยทำเสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราชเขต 1 เมื่อหักเงินสมทบแล้วคงเหลือเงินที่จ่ายจริง 12,222 บาท และได้มีการนำเงินเข้าบัญชีโจทก์แต่ละคนแล้ว อันเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราชเขต 1 กำหนด การที่จำเลยถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์แต่ละคนในวันเดียวกันเป็นกรณีที่ไม่มีการจ่ายเงินให้ตามหลักเกณฑ์ หลักฐานที่นำเสนอต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราชเขต 1 เป็นการไม่ชอบ วันที่ 30 สิงหาคม 2548 โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนข้อเท็จจริงว่าเงินถูกถอนออกจากบัญชีได้อย่างไร ไม่ได้ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย วันที่ 3 กันยายน 2548 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของจำเลยมีมติยืนยันให้โจทก์ทั้งยี่สิบถอนคำร้องทุกข์ หากไม่ดำเนินการก็จะเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายค่าชดเชยซึ่งเป็นการลงมติล่วงหน้าโดยยังไม่มีเหตุอันควร มีลักษณะขู่เข็ญ เมื่อการสืบสวนทราบว่าจำเลยเป็นผู้ถอนเงินไปจากบัญชีของโจทก์ทั้งยี่สิบโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งยี่สิบทราบก่อน โจทก์ทั้งยี่สิบจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่มีเหตุอันควรเลิกสัญญา จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบโดยไม่เป็นธรรม แม้ตามสัญญาการเป็นครูใหญ่และครูเอกสารหมาย ล.25 ข้อ 9 (3) ระบุว่าเมื่อมีการเลิกจ้าง ผู้รับใบอนุญาตยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่ครูกรณีทำงานติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไป จ่ายให้ 6 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย แต่กรณีลูกจ้างทำงานติดต่อกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) (5) ไม่ได้กำหนดไว้ ทั้งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงให้บังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องตามคำขอของโจทก์แต่ละคน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 60,480 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 68,040 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 95,100 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 247,260 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 79,600 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 119,400 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 80,010 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 112,140 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 78,100 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 109,340 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 6 เป็นเงิน 76,600 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 84,260 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 76,600 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 84,260 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 8 และที่ 10 เป็นเงินคนละ 75,600 บาท ค่าเสียหายเป็นเงินคนละ 75,600 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 9 เป็นเงิน 60,480 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 68,040 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 11 เป็นเงิน 59,680 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 67,150 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 60,480 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 68,040 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 13 เป็นเงิน 59,680 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 67,140 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 14 เป็นเงิน 70,640 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 79,470 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 และที่ 19 เป็นเงินคนละ 60,480 บาท ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 15 และที่ 16 เป็นเงินคนละ 68,040 บาท จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 18 และที่ 19 เป็นเงินคนละ 60,480 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 17 เป็นเงิน 62,880 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 70,740 บาท จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 20 เป็นเงิน 21,930 บาท ค่าเสียหายเป็นเงิน 21,930 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินค่าชดเชยของโจทก์แต่ละคนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “สัญญาการเป็นครูระหว่างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 กับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.25 เป็นแบบสัญญาการเป็นครูใหญ่และครูท้ายระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่นายจ้างลูกจ้างหรือกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างหรือแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างลูกจ้างอันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แม้ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 หมวด 7 จะมีการกำหนดให้การคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโดยมีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ก็ไม่ใช่ขั้นตอนการระงับข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่หรือครูกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้จัดการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 ถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 จึงมีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 8 ได้โดยไม่จำต้องเสนอข้อขัดแย้งให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานวินิจฉัยชี้ขาดตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 ก่อน โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 19 จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการที่สองว่า โจทก์ทั้งยี่สิบจงใจทำให้ผู้รับใบอนุญาต (จำเลย) ได้รับความเสียหายและทำให้โรงเรียนของจำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานการประชุม เรื่อง การเจรจาเกี่ยวกับการปรับเงินเดือนครูย้อนหลัง 14 เดือน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 และวันที่ 2 กันยายน 2548 กับรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2548 สาเหตุข้อขัดแย้งระหว่างโจทก์ทั้งยี่สิบกับจำเลยเกิดจากการที่โรงเรียนของจำเลยได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียน (เพิ่มเติม) จากงบประมาณสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเพื่อปรับเงินเดือนให้ครูตามประกาศสำนักงานบริหารคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นเงินค่าใช่จ่ายรายหัวนักเรียนในโรงเรียนเอกชน (เพิ่มเติม) วันที่ 18 สิงหาคม 2548 จำเลยนำเงินอุดหนุนของเดือนเมษายน 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 เข้าบัญชีโจทก์คนละ 12,222 บาท แล้วถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์คนละ 5,515.51 บาท ในวันเดียวกันโดยไม่แจ้งการถอนเงินออกให้โจทก์ทั้งยี่สิบทราบ วันที่ 30 สิงหาคม 2548 โจทก์ทั้งยี่สิบจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี จำเลยจึงเห็นสมควรเลิกสัญญาการเป็นครูหรือเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์ทั้งยี่สิบโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งยี่สิบทราบตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2548 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงเป็นระยะเวลาถึง 12 วัน จำเลยมีเวลาพอที่จะชี้แจงเหตุผลที่ถอนเงินออกจากบัญชีโจทก์ทั้งยี่สิบได้แต่ก็ไม่กระทำ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกิดจากความบกพร่องของจำเลย และมีเหตุสมควรที่โจทก์ทั้งยี่สิบจะติดตามหาสาเหตุที่เงินในบัญชีของตนถูกถอนออกไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งยี่สิบจงใจทำให้ผู้รับใบอนุญาต (จำเลย) ได้รับความเสียหายและทำให้โรงเรียนของจำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียงตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 34 (2) (5) ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยจรรยา มรรยาท วินัย และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการ ครูใหญ่ หรือครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2526 ข้อ 6 (5) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบด้วยเหตุนี้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 66 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการคุ้มครองการทำงานของครูในเรื่องอัตราเงินเดือนซึ่งผู้รับใบอนุญาตต้องจ่ายให้ครูโรงเรียนเอกชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตและครูตกลงจ่ายและรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราตามที่ทางราชการกำหนดปรากฏตามหนังสือสำนักบริหารคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าทางราชการได้ประกาศกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป การขอบรรจุครูในโรงเรียนเอกชนและการปรับอัตราเงินเดือนครูที่บรรจุแล้วต้องใช้อัตราตามที่ราชการกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไป ในตารางเปรียบเทียบอัตราเงินเดือนเดิมกับอัตราเงินเดือนใหม่สำหรับครูที่มีคุณวุฒิปริญญาตรี อัตราเงินเดือนเดิม 6,360 บาท อัตราเงินเดือนใหม่ 7,260 บาท เงินเพิ่มตามวุฒิ 900 บาท คำว่า “เงินเพิ่มตามวุฒิ” จึงหมายความว่าสำหรับครูที่มีวุฒิปริญญาตรีจากเดิมทางราชการกำหนดอัตราเงินเดือนไว้ 6,360 บาท ให้ปรับอัตราเงินเดือนใหม่เป็น 7,260 บาท ส่วนต่างระหว่างอัตราเงินเดือนเดิมกับอัตราเงินเดือนใหม่เท่ากับ 900 บาท ต่อเดือน ซึ่งนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 เป็นต้นไปครูที่มีวุฒิปริญญาตรีในโรงเรียนเอกชนทั้งที่ขอบรรจุใหม่และที่บรรจุแล้วต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราเดือนละ 7,260 บาท ผู้ที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่านี้ก็ต้องปรับขึ้นมาให้ถึงอัตรา 7,260 บาท ดังนั้นอัตราเงินเดือน 7,260 บาท ตามประกาศของทางราชการจึงมีฐานะเป็นอัตราค่าจ้างหรืออัตราเงินเดือนขั้นต่ำของครูที่มีวุฒิปริญญาตรี ไม่ได้หมายความว่าครูที่มีวุฒิปริญญาตรีทุกคนต้องได้รับเงินเดือนเดือนละ 7,260 บาท เท่ากันทุกคนหรือได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นเดือนละ 900 บาท โดยไม่คำนึงว่าได้รับเงินเดือนเดิมอยู่เดือนละเท่าใด สำหรับเงินที่นำมาจ่ายในการปรับเงินเดือนขั้นต่ำของครูปรากฏตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนโรงเรียนเอกชนเพื่อเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 (ใช้งบประมาณของสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน) ซึ่งสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสิรมการศึกษาเอกชนออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุดหนุน เป็นเงินค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนในโรงเรียนเอกชน (เพิ่มเติม) ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 กำหนดให้การอุดหนุนเป็นเงินค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 ให้จ่ายเพิ่มเติมในอัตรา 525 บาท ต่อคน สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ มีเงื่อนไขว่าโรงเรียนต้องนำเงินอุดหนุนไปจ่ายเพิ่มเป็นเงินเดือนให้แก่ครูทุกคน ตามตารางอัตราเงินเพิ่มตามวุฒิใหม่ท้ายประกาศกำหนดอัตราสำหรับครูที่มีวุฒิปริญญาตรีเดือนละ 900 บาท อัตราเงินเพิ่มตามวุฒิใหม่ตามตารางดังกล่าวมีอัตราเดียวกันกับที่ทางราชการประกาศกำหนดอัตราเงินเดือนซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ในทุกระดับวุฒิการศึกษาของครู คำว่า “อัตราเงินเพิ่มตามวุฒิใหม่” จึงมีความหมายเดียวกับคำว่า “เงินเพิ่มตามวุฒิ” ปรากฏว่าโจทก์ทั้งยี่สิบได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ 7,260 บาท โจทก์ทั้งยี่สิบจึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องได้รับเงินเพิ่มตามวุฒิในอัตรา เดือนละ 900 บาท เมื่อจำเลยจ่ายเงินเพิ่มตามวุฒิเข้าบัญชีโจทก์ทั้งยี่สิบโดยใช้ฐานการคำนวณจากอัตราเดือนละ 900 บาท เป็นเงินคนละ 12,222 บาท แต่จำเลยได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนไม่ถึงอัตราเงินเพิ่มตามวุฒิ อีกทั้งจำเลยไม่ผูกพันต้องจ่ายเงินเพิ่มตามวุฒิในอัตราเดือนละ 900 บาท แก่โจทก์ทั้งยี่สิบ จำเลยชอบที่จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบตามสัดส่วนของเงินที่ได้รับตามที่นายอรรถพล รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราชเขต 1 ประธานในที่ประชุมกล่าวในการประชุมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราชเขต 1 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ตามรายงานการประชุม การที่จำเลยจ่ายเงินอุดหนุนให้โจทก์ทั้งยี่สิบเกินส่วนที่ได้รับโดยนำเงินของจำเลยสมทบเพิ่มไปด้วยจึงเป็นการจ่ายโดยผิดหลง จำเลยจึงชอบที่จะติดตามเอาเงินของจำเลยที่จ่ายสมทบเพิ่มคืน จำเลยชี้แจงเหตุผลแก่โจทก์ทั้งยี่สิบและครูทั้งโรงเรียนแล้วเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 และวันที่ 2 กันยายน 2548 ว่าจำเลยได้รับเงินอุดหนุนมาไม่พอ การที่โจทก์ทั้งยี่สิบยังคงยืนยันร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยลักทรัพย์และยืนยันให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในวันที่ 20 กันยายน 2548 และพนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ไว้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 แสดงว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเป็นบุคคลไม่ยอมรับฟังเหตุผลและความคิดของผู้อื่น ไม่เหมาะสมแก่การเป็นครู (อาจารย์) ผู้สั่งสอนถ่ายทอดความรู้และจริยธรรมให้แก่นักเรียนผู้เป็นศิษย์ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบโดยมีเหตุอันสมควรไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง กฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 วรรคสอง และมาตรา 6 กำหนดไว้ในข้อ (1) มิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู จำเลยเป็นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชน โจทก์ทั้งยี่สิบเป็นครู (อาจารย์) จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 จึงไม่ถูกต้อง ค่าชดเชยที่จำเลยต้องรับผิดจ่ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบต้องบังคับตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 6 มาตรา 17 มาตรา 44 และมาตรา 66 และระเบียบนี้ในข้อ 48 กำหนดให้สัญญาการเป็นครูที่ทำขึ้นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2526 ยังคงใช้บังคับต่อไป โดยข้อสัญญาใดที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ก็ให้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ การที่สัญญาการเป็นครูซึ่งออกตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2526 ข้อ 9 ระบุค่าชดเชยที่ผู้รับใบอนุญาตต้องจ่ายไว้สูงสุดเพียง 6 เท่า ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 32 ซึ่งกำหนดค่าชดเชยไว้สูงสุดถึง 10 เดือน ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ค่าชดเชยจึงต้องบังคับตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 32 แต่เนื่องจากอัตราค่าชดเชยที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยจ่ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบตรงตามอัตราที่กำหนดในข้อ 32 แล้ว จึงไม่จำต้องแก้ไขจำนวนค่าชดเชยที่จำเลยต้องจ่ายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งยี่สิบในส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8

Share