คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตันและตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนครพ.ศ.2496 มีว่า รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องได้ที่ดินไว้ใช้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐสำหรับจัดให้มีการดำเนินกิจการโรงงานเนื้อสัตว์เพื่อจัดให้ประชาชนได้มีเนื้อสัตว์ที่ปราศจากโรค เพียงพอแก่การบริโภคอันเป็นโครงการของการท่าเรือ แต่ตามความจริงการท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 หาได้มีโครงการจัดทำกิจการโรงงานเนื้อสัตว์ไม่ การเวนคืนจึงมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และการเวนคืนเพื่อกิจการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเป็นการค้า ก็ไม่เป็นกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค ย่อมไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 มาตรา 5 ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏว่ากิจการโรงงานเนื้อสัตว์เป็นกิจการของบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ซึ่งเป็นเอกชน การเวนคืนที่ดินของโจทก์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเอกชน จะถือว่าการดำเนินกิจการโรงงานเนื้อสัตว์เป็นประโยชน์ของรัฐอย่างอื่น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2477 มาตรา5 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2495 มาตรา3 ก็ไม่ได้ดุจเดียวกัน
โจทก์จำเลยได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นพิจารณาเงินค่าทำขวัญมาตั้งแต่ปี 2498 ในระหว่างพิจารณา โจทก์ได้เสนอขอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาว่า พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตัน และตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนงจังหวัดพระนคร พ.ศ.2496 เป็นโมฆะ อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2511 ว่าไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 30 วัน โจทก์จึงได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2511 กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 179,176 กล่าวคือเมื่อคำหาหรือคำกล่าวอ้างของโจทก์ถูกยกเสียโดยเหตุอนุญาโตตุลาการ ไม่มีอำนาจพิจารณา และกำหนดอายุความในเรื่องนั้นได้สิ้นสุดลงในระหว่างที่อนุญาโตตุลาการพิจารณาคดีอยู่ หรือว่าภายหลังที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดตัดสินคดีอายุความเหลือเวลาไม่ถึงหกเดือน ก็ให้ขยายอายุความออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำชี้ขาดตัดสินนั้น ฉะนั้นแม้โจทก์จะยื่นฟ้องเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีนับแต่บังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่ทำให้คดีของโจทก์ขาดอายุความ
แม้จะได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นพิจารณาเงินค่าทำขวัญแล้วแต่โจทก์ก็ได้เสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาในปัญหาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้แก่ที่ดินของโจทก์ด้วยจะถือว่าโจทก์ยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แก่ที่ดินของโจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ 6 แปลงได้ถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อขยายเขตท่าเรือกรุงเทพฯพ.ศ. 2486 โจทก์เห็นว่าการเวนคืนขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2477 จึงฟ้องขอให้เพิกถอน ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 558/2496 ว่าการเวนคืนที่ดินของโจทก์ไม่มีผลบังคับกรรมสิทธิ์ไม่ตกมาเป็นของเจ้าหน้าที่ ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตันและตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2496 เวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้ง 6 แปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอ้างว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องได้ที่ดินของโจทก์ไว้ใช้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐสำหรับจัดให้มีการดำเนินกิจการโรงงานเนื้อสัตว์ โจทก์เห็นว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงไม่ยอมรับเงินค่าทดแทน ได้เสนอขอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด แต่อนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจชี้ขาดได้สั่งให้โจทก์มาฟ้องต่อศาล ขอให้พิพากษาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ได้เวนคืนที่ดินของโจทก์ตามฟ้องเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ และจำเลยที่ 11, 2 ไม่มีสิทธิเวนคืนที่ดิน 6 แปลงนี้ด้วย

จำเลยต่อสู้ว่า เป็นการเวนคืนเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือประโยชน์ของรัฐ โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต คดีโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตัน และตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนครพ.ศ. 2496 เฉพาะที่เวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้ง 6 แปลงไม่มีผลบังคับใช้กับโจทก์ และจำเลยที่ 1, 2 ไม่มีสิทธิที่จะเวนคืนด้วย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ที่จำเลยฎีกาว่า การดำเนินกิจการโรงงานเนื้อสัตว์เป็นสาธารณูปโภคนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1081/2494 และที่ 558/2496 วินิจฉัยว่า การเวนคืนที่ดินของหม่อมราชวงศ์หญิงพันธ์ทิพย์ และที่ดินของโจทก์เพื่อขยายเขตท่าเรือกรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ. 2496 เป็นการเวนคืนที่ดินเพื่อกิจการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเป็นการค้าอย่างหนึ่ง ไม่เป็นกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค และแม้จะอ้างเหตุว่าเป็นการเวนคืนเพื่อขยายเขตท่าเรืออันเป็นสาธารณูปโภคแต่เมื่อเจตนาของการเวนคืนเพื่อประโยชน์อันไม่ใช่สาธารณูปโภคการเวนคืนก็ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่า การเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้ง 6 แปลงนี้เป็นการเวนคืนที่ดินรายเดียวกัน และเหตุผลในการเวนคืนก็เพื่อดำเนินกิจการโรงงานเนื้อสัตว์อันเป็นกิจการอย่างเดียวกันกับการเวนคืนในครั้งก่อนก็เป็นที่เห็นได้ว่าการเวนคืนที่ดินของจำเลยเป็นการเวนคืนเรื่องเดียวกันกับครั้งก่อน เมื่อได้มีคำพิพากษาฎีกาชี้ขาดในปัญหาว่า การเวนคืนเพื่อกิจการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเป็นการค้าไม่เป็นกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็ฟังได้ในคดีนี้ว่า การดำเนินกิจการโรงงานเนื้อสัตว์ไม่เป็นกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคเช่นเดียวกันกับการเวนคืนในครั้งก่อน

ที่จำเลยฎีกาว่า การดำเนินกิจการโรงงานเนื้อสัตว์เป็นประโยชน์ของรัฐอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2477 มาตรา 5 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2495 มาตรา 3 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีเหตุผลในการประกาศพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตันและตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2496 ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องได้ที่ดินไว้ใช้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐสำหรับจัดให้มีการดำเนินกิจการโรงงานเนื้อสัตว์เพื่อจัดให้ประชาชนได้มีเนื้อสัตว์ที่ปราศจากโรคเพียงพอแก่การบริโภค อันเป็นโครงการของการท่าเรือ ข้อนี้โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่า ตามโครงการท่าเรือไม่ได้พูดถึงเกี่ยวกับโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานเนื้อสัตว์ หรือการขนส่งออกไปต่างประเทศจึงชี้ให้เห็นว่าความจริงการท่าเรือแห่งประเทศไทยหาได้มีโครงการจัดทำกิจการโรงงานเนื้อสัตว์ตามเหตุผลท้ายประกาศพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินในท้องที่ตำบลคลองตันและตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2496 ไม่ ฉะนั้น การเวนคืนจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า เดิมกิจการโรงงานเนื้อสัตว์ขึ้นอยู่กับเทศบาลนครกรุงเทพ แล้วโอนมาขึ้นกรมพลาธิการกระทรวงกลาโหม ในขณะที่ได้มีการเวนคืนที่ดินของโจทก์ในครั้งก่อนได้ขึ้นอยู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม แล้วโอนกลับมาอยู่ในสังกัดของเทศบาลนครกรุงเทพ ปัจจุบันบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์เป็นผู้ถือหุ้นและเข้าดำเนินกิจการ การท่าเรือฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย กิจการโรงงานเนื้อสัตว์ไม่เคยสังกัดหรือเป็นหน่วยงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย แต่เป็นโครงการของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ การเวนคืนที่ดินของโจทก์ในครั้งก่อนก็เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากการท่าเรือฯกำลังทำการเวนคืนที่ดินอยู่แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงขอให้การท่าเรือฯเวนคืนที่ดินมาเพื่อกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย และเงินค่าชดเชยที่ดินที่เวนคืนก็เป็นเงินของโรงงานเนื้อสัตว์ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ออกให้กับการท่าเรือฯแต่เมื่อโจทก์ไม่รับ การท่าเรือฯก็ส่งมอบให้คณะกรรมการชำระบัญชีของโรงงานเนื้อสัตว์ โครงการโรงงานเนื้อสัตว์ กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในสมัยนั้น ไม่ได้ให้งบประมาณไม่อนุมัติให้กู้เงินจากต่างประเทศมาดำเนินการ โรงงานเนื้อสัตว์จึงขาดทุน ไม่ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2496 ต้องยุบเลิกมาตั้งแต่ปี 2503 และมีการชำระบัญชีแล้ว ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1มีนโยบายการสร้างโรงงานเนื้อสัตว์ด้วย เห็นได้ว่า รัฐบาลหาได้มีนโยบายหรือหลักการให้หน่วยราชการใดทำกิจการโรงงานเนื้อสัตว์ที่แน่นอนไม่ได้สนับสนุนในการดำเนินกิจการจนต้องล้มเลิกไป กิจการโรงงานเนื้อสัตว์ จึงมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ และกิจการโรงงานเนื้อสัตว์มิได้เป็นหน่วยงานหรือกิจการของการท่าเรือมาแต่เดิมหรือตามเหตุผลท้ายประกาศพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ แต่เป็นกิจการของบริษัทสหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนการเวนคืนที่ดินของโจทก์จึงเพื่อประโยชน์ของเอกชน มิใช่เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ การเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตัน และตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2496 ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน จึงไม่มีผลบังคับแก่ที่ดินของโจทก์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2495 มาตรา 3

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน 10 ปีคดีขาดอายุความนั้นคดีได้ความว่า โจทก์จำเลยได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นพิจารณาเงินค่าทำขวัญมาตั้งแต่ปี 2498 ในระหว่างที่อนุญาโตตุลาการยังพิจารณาในเรื่องเงินค่าทำขวัญไม่เสร็จนั้น โจทก์ได้เสนอขอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตันและตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2496 เป็นโมฆะอนุญาโตตุลาการ มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2511 ว่าไม่มีอำนาจวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ ให้โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 30 วันโจทก์จึงได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2511 กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 179 ซึ่งบัญญัติว่าในกรณีที่มอบให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ท่านให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 176บังคับอนุโลมตามควร การอนุโลมใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 ก็คือ เมื่อคำหาหรือคำกล่าวอ้างของโจทก์ถูกยกเสียโดยเหตุอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจพิจารณา และกำหนดอายุความในเรื่องนั้นได้สิ้นสุดลงในระหว่างที่อนุญาโตตุลาการพิจารณาคดีอยู่หรือว่าภายหลังที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดตัดสินคดีอายุความเหลือเวลาไม่ถึงหกเดือน ท่านให้ขยายอายุความออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำชี้ขาดตัดสินนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวแม้จะเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีนับแต่เวลาที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตันและตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร พ.ศ. 2496 บังคับใช้ก็ไม่ทำให้คดีของโจทก์ขาดอายุความ

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการแล้วก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ยอมรับว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลคลองตันและตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนครพ.ศ. 2496 มีผลบังคับใช้ได้นั้น เห็นว่า เมื่อได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นพิจารณาเงินค่าทำขวัญแล้ว โจทก์ได้เสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาในปัญหาว่าพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้แก่ที่ดินโจทก์ด้วย จึงจะถือว่าโจทก์ยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แก่ที่ดินโจทก์หาได้ไม่ และข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังฎีกาของจำเลย

พิพากษายืน

Share