คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22134/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างที่จำเลยยังไม่ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้ว แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนฎีกากับจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา จึงไม่มีคดีของจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาอีก เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ แม้ความผิดซึ่งจำเลยต้องโทษในคดีก่อนที่เป็นเหตุถูกเพิ่มโทษในคดีนี้จะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และจำเลยได้พ้นโทษในคดีก่อนแล้วก็ตามก็ไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษคดีนี้ได้เพราะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 15 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุ จำคุก 4 วัน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน 4 วัน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน 2 วัน รวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 10 ปี 9 เดือน 2 วัน ริบของกลาง จำเลยยื่นฎีกา ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2553 วันที่ 5 สิงหาคม 2553 จำเลยยื่นคำร้องว่า ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป ตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น ความผิดของจำเลยซึ่งเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2538 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาก่อนพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ และในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ ใช้บังคับ แต่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกาทำให้คดีไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 6 จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงเรื่องเพิ่มโทษตามคำร้องได้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า มีเหตุที่จะงดเพิ่มโทษจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า วันที่จำเลยยื่นฎีกาจนถึงวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้ว คดีของจำเลยจึงยังไม่ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้ระหว่างที่จำเลยยังไม่ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนฎีกากับจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา จึงไม่มีคดีของจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาอีกต่อไป ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยก่อนพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ แม้ความผิดซึ่งจำเลยต้องโทษในคดีก่อนที่เป็นเหตุถูกเพิ่มโทษในคดีนี้จะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และจำเลยได้พ้นโทษในคดีก่อนไปแล้วก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษในคดีนี้ได้ เพราะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ที่บัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาไต่สวนกรณีที่จำเลยอ้างว่าถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 นั้น เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของจำเลยที่อ้างว่าถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นยกคำร้อง หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล แต่จำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น กลับยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาไต่สวนคำร้องของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share