คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2211/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 35 ให้ศาลบันทึกรายการแห่งข้อหา ไม่จำต้องบันทึกโดยละเอียดดังเช่นคำฟ้องเป็นหนังสือ เมื่อพิจารณาคำฟ้องที่ศาลบันทึกไว้ ประกอบกับคำสั่งของจำเลยที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ซึ่งโจทก์ส่งศาลและศาลนำมาแนบท้ายคำฟ้องไว้ ถือว่ามีรายละเอียดที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนครบถ้วนเป็นรายการแห่งข้อหาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กำหนดเพียงว่า การขาดงานเป็นการกระทำผิดวินัย โดยมิได้ระบุโทษไว้ แต่เมื่อลูกจ้างขาดงาน 1 วัน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ก็ถือได้ว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างหากได้ว่ากล่าวและตักเตือนโดยชอบแล้วนายจ้างย่อมมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามมาตรา 123(3) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
เมื่อนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง ในการที่ลูกจ้างขาดงานครั้งก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นโทษหรือไม่ก็ตามย่อมเป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือ ตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123(3) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อศาลแรงงานกลาง ศาลบันทึกไว้ว่า เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2523 จำเลยได้วินิจฉัยว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายอนันต์ ขันขาว ลูกจ้างของโจทก์ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายแก่นายอนันต์ ขันขาว 4,000 บาท ซึ่งโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะการที่โจทก์เลิกจ้างนายอนันต์ ขันขาว ลูกจ้างของโจทก์นั้นเป็นการเลิกจ้างโดยเหตุที่นายอนันต์ ขันขาว ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทโจทก์ โดยโจทก์ได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้วซึ่งเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 123(3) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 รายละเอียดคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวปรากฏตามเอกสารแนบท้ายฟ้องหมาย 2 ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 59/2523 ลงวันที่ 27พฤษภาคม 2523 เสีย

จำเลยทั้งเก้าคนให้การว่า ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่า ลูกจ้างโจทก์กระทำการอย่างไร ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งข้อใด การฝ่าฝืนนั้นจะต้องได้รับโทษอันกำหนดไว้อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ระบุเหตุอันผิดวินัยไว้ ส่วนโทษทางวินัยมีเฉพาะที่จะรับโทษถึงไล่ออกประการเดียว กรณีเหตุของนายอนันต์ไม่มีระบุโทษไว้ โจทก์ลงโทษเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นการขัดต่อกฎหมาย โจทก์เลิกจ้างนายอนันต์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ในระหว่างที่ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานฯ มีผลใช้บังคับ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย (โดยคู่ความไม่สืบพยาน) ว่า ฟ้องโจทก์บรรยายครบถ้วนและชัดเจนพอควร ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ระบุกรณีลูกจ้างขาดงาน 1 วันว่าจะได้รับโทษ แต่มิได้กำหนดโทษไว้ว่าเป็นสถานใด โจทก์ก็มีสิทธิที่จะใช้ดุลพินิจเลิกจ้างลูกจ้างได้ นายอนันต์ขันขาวลูกจ้างโจทก์มีพฤติการณ์ขาดงานหลายครั้ง โดยได้มีการเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ทั้งนายอนันต์ยังมีวันลามากและมาทำงานสายหลายครั้ง แม้ครั้งสุดท้ายนายอนันต์ขาดงาน1 วันก็มีเหตุผลที่โจทก์จะใช้ดุลพินิจในทางเลิกจ้าง การที่โจทก์เลิกจ้างนายอนันต์จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3) ความเห็นของจำเลยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลแรงงานกลาง พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เลขที่ 59/2523 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2523 ระหว่างนายอนันต์ ขันขาวผู้กล่าวหา และบริษัทรองเท้าบาจาแห่งประเทศไทย จำกัดผู้ถูกกล่าวหาเสีย

จำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องโดยมาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อศาล คำฟ้องในคดีนี้เป็นบันทึกของศาลที่บันทึกเอาไว้ กรณีเช่นนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ให้ศาลบันทึกรายการแห่งข้อหาไว้เท่านั้น หาจำต้องบันทึกโดยละเอียดดังเช่นคำฟ้องเป็นหนังสือไม่เมื่อพิจารณาคำฟ้องที่ศาลบันทึกไว้ประกอบกับคำสั่งของจำเลยที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ซึ่งโจทก์ส่งต่อศาลและศาลนำมาแนบท้ายคำฟ้องไว้ มีรายละเอียดที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนเสียครบถ้วนเป็นรายการแห่งข้อหาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ซึ่งอยู่ในหมวด 9 การกระทำอันไม่เป็นธรรม บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว (1) ฯลฯ (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้องหรือ (4) ฯลฯ” เห็นว่า แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กำหนดเพียงว่า การขาดงาน 1 วัน เป็นการกระทำผิดวินัย โดยมิได้ระบุโทษไว้ แต่เมื่อนายอนันต์ขาดงาน 1 วัน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็นับได้ว่านายอนันต์ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างโจทก์ย่อมมีอำนาจเลิกจ้างนายอนันต์ได้ ตามมาตรา 123(3)แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หากได้ว่ากล่าวและตักเตือนโดยชอบแล้ว

การว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือเป็นโทษหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ว่ากล่าวและตักเตือนนายอนันต์เป็นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง ในการที่นายอนันต์ขาดงานครั้งก่อน ๆ ย่อมเป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(3) แล้ว มีผลให้โจทก์มีอำนาจเลิกจ้างนายอนันต์ในการขาดงานครั้งที่พิพาท การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

Share