คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2211/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ไม้ของกลางเป็นไม้สักแปรรูปเป็นแผ่นกระดานหนานำมาปูพื้นเรือโป๊ะ ขนาดใหญ่การปูปูเอาไว้หยาบๆเพียงให้หัวไม้และท้ายไม้ต่อชนกัน ไม่ได้ทำให้เข้ากันให้สนิทและยังมีช่องว่างระหว่างแผ่นไม้ห่างกันมาก ไม่ได้ไสกบตบแต่งให้เรียบร้อย ทั้งลักษณะของไม้ก็เป็นไม้ที่ใหม่สดใช้ตะปูตีตอกทุกแผ่น โดยไม่เปิดช่องไว้สำหรับวิดน้ำเลยแสดงว่าทำไว้เป็นการชั่วคราว เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย ดังนี้ไม้ของกลางจึงไม่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ตามความหมายในมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯต้องถือว่าเป็นไม้แปรรูป
ศาลล่างพิพากษายกฟ้องด้วยข้อกฎหมาย โดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตรงข้ามกับศาลล่าง และเห็นว่าโจทก์จำเลยได้นำสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไปเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. แปรรูปเป็นไม้กระดานจำนวน ๘๙ แผ่น ปริมาตรเนื้อไม้๔.๓๗ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอำพรางปูบนเรือโป๊ะ ๒ ลำ โดยมิได้มีเจตนาทำไว้เพื่ออยู่อาศัยและประกอบกับตัวเรือโป๊ะอย่างจริงจัง แต่ทำไว้เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓, ๗๔ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และขอให้ริบไม้ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีว่า ไม้ที่โจทก์ฟ้องเป็นไม้กระดานปูท้องเรือของนางจรูญที่จำเลยควบคุมมา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ไม้ของกลางไม่ใช่ไม้แปรรูปตามคำจำกัดความของไม้แปรรูปตามมาตรา ๔ ข้อ ๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม้ของกลางมีสภาพเป็นเครื่องใช้ประจำเรือไม่ใช่ไม้แปรรูปดังโจทก์ฟ้อง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาต่อมาว่า สภาพของไม้ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุตินั้นมิใช่ไม้ที่ประกอบเป็นสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมาย ยังเป็นไม้แปรรูปตามกฎหมายอยู่ จำเลยไว้ในครอบครองจึงเป็นความผิด
ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาที่ว่า ไม้ของกลางยังเป็นไม้แปรรูปตามกฎหมายอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนมาแล้วว่า ไม้ของกลางที่เจ้าพนักงานจับยึดมาดำเนินคดีนี้ ปูเป็นพื้นท้องเรือโป๊ะ ๒ ลำ เป็นเรือมีเครื่องยนต์ลำหนึ่ง ไม่มีเครื่องยนต์ลำหนึ่ง กับไม้ที่ไม่ได้ปูพื้นท้องเรืออีกลำละแผ่น เรือทั้งสองลำเป็นเรือขนาดใหญ่ ตัวเรือยาว ๑๖ เมตรกว้าง ๔.๕๕ เมตร คงเรือวางห่างกัน ๑ ฟุตตลอดทั้งลำ ไม้ที่ใช้ทำกงเรือหนาขนาด ๑ นิ้ว ด้านในเรือมีไม้ติดกับกงเรือด้านละสองแผ่น ใช้น็อตอัดติดกับกงเรือ ไม้ของกลางที่ปูเป็นพื้นเรือนั้น ปูเต็มพื้นท้องเรือทั้งสองลำวัดความยาวได้ ๑๔.๒๓ เมตร กว้าง ๓.๘๐ เมตร ไม้ที่ปูเป็นไม้หนาขนาด ๑ นิ้วไม้ที่วางเป็นคานวางห่างกัน ๖๐ เซนติเมตร เรือลำที่ไม่มีเครื่องยนต์มีไม้คานทั้งหมด ๑๗ แผ่น ไม้ปูพื้นทั้งหมด ๓๐ แผ่น ไม้ปูพื้นเป็นไม้หน้ากว้าง๑๐ นิ้ว ไม้พื้นตีตะปูติดกับคานทุกแผ่น ใช้ตะปูขนาด ๓ นิ้ว เรือลำที่มีเครื่องยนต์มีไม้ปูพื้นทั้งหมด ๒๖ แผ่น คาน ๑๕ ตัว ปูลักษณะเดียวกับไม้พื้น มีตะปูตีติดกับไม้คาน ไม้ของกลางที่ปูเป็นพื้น เป็นไม้ใหม่ ไม่มีรอยไสกบ เห็นคลองเลื่อยชัดเจนปูพอให้หัวไม้ต่อชนกัน แต่เข้ากันไม่สนิท ส่วนไม้อีก ๒ แผ่นเป็นไม้หนา ๓-๔ นิ้วยาว ๔ วาเศษ กว้าง ๒๕-๓๐ เซนติเมตร เป็นไม้ใหม่มีรอยเส้นบรรทัดตีไว้ ดังนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม้ของกลางเป็นไม้สักหนา การปูก็ปูเอาไว้เพียงหยาบ ๆ เพียงให้หัวไม้และท้ายไม้ต่อชนกัน ไม่ได้ทำให้เข้ากันให้สนิทและยังมีช่องว่างระหว่างแผ่นไม้ห่างจากกันมาก ไม่ได้ไสกบตบแต่งให้เรียบร้อยทั้งลักษณะของไม้ก็เป็นไม้ที่ใหม่สด และใช้ตะปูตีตอกทุกแผ่นโดยไม่เปิดช่องว่างไว้สำหรับวิดน้ำเลย แสดงว่าทำไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายส่วนไม้สักอีก ๒ แผ่นที่ติดเรือมาลำละแผ่นก็เห็นว่าไม่ใช่ไม้ที่สมควรจะใช้เป็นสะพานทอดสำหรับเดินขึ้นหรือลงเรือ เพราะตามปกติย่อมจะใช้ไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นและไม้นี้ยังเป็นไม้ใหม่มีรอยเส้นบรรทัดตีไว้ ไม้ของกลางทั้งหมดจึงไม่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ตามความหมายในมาตรา ๔(๔)แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ ต้องถือว่าเป็นไม้แปรรูปตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม้ของกลางทั้งหมดอยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ประจำเรือ ไม่ใช่ไม้แปรรูปนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
แม้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ไม้ของกลางยังเป็นไม้แปรรูปตามกฎหมายอยู่ก็ตาม การที่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้ก็จะต้องได้ความว่าจำเลยเป็นผู้มีไม้แปรรูปนั้นไว้ในครอบครองเพราะจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธต่อสู้ว่า ไม้ของกลางเป็นไม้กระดานปูท้องเรือของนางจรูญที่จำเลยควบคุมมา แต่ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยเป็นผู้มีไม้ไว้ในครอบครองหรือไม่นี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดมา แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่ายนำสืบพยานมาจนสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะวินิจฉัยไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองศาลวินิจฉัยชี้ขาดก่อน
ในประเด็นข้อนี้ ข้อเท็จจริงตามคำพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่า ไม้ของกลางทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒จึงต้องมีความผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๑ โจทก์นำสืบไม่ได้ความว่า มีส่วนเป็นเจ้าของไม้ของกลางรายนี้ด้วยแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงคนถือท้ายควบคุมเรือที่บรรทุกไม้มา จึงยังไม่มีความผิด
พิพากษาแก้ ว่าจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้มีกำหนด ๑ ปี กับปรับ๑๐,๐๐๐ บาท คำรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวน มีประโยชน์แก่การพิจารณาปรานีลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย ๘ เดือน กับปรับ ๖,๖๖๖.๖๖ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๓ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖หากไม่ชำระค่าปรับก็ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙และ ๓๐ ไม้ของกลางให้ริบนอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share