แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้าหลวงประจำจังหวัดรับเงินไปเพื่อจัดซื้อไม้ทำที่ว่าการอำเภอในจังหวัดที่ตนรับราชการอยู่ แล้วยักยอกเสีย มีผิดตามมาตรา 131 ผู้ออกใบรับเงินลงวันรับเงินย้อนหลังขึ้นไปอันไม่ใช่ความจริงนั้นไม่เป็นปลอมหนังสือ ในคดียักยอก โจทก์ระบุวันกระทำผิดมาในฟ้องว่าระหว่างวันที่เท่านั้นเท่านี้ในเมื่อไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจำเลยกระทำผิดวันใดเป็นฉะเพาะแล้วฟ้องนั้นก็เป็นฟ้องตามประมวล วิธีพิจารณาอาญา ม.158(5) ได้จำเลยจะขอให้ยกฟ้องตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.161 ไม่ได้
ย่อยาว
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเป็นข้าหลวง ประจำจังหวัดพังงาได้รับเงินจากนายบุญรอดเสมียนตราจังหวัดซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของ จำเลยไป ๒ ราย ๆ แรกจำนวนเงิน ๒๘๐๐ บาท รายที่ ๒ จำนวน ๑๕๐๐ บาทรวม ๔๓๐๐ บาท จำเลย ได้ทุจริตยักยอกเอาไปเป็นของ จำเลยเสีย ๑๕๐๐ บาท ส่วนอีก ๒๘๐๐ บาท จำเลยได้แสดงใบรับเงิน ของยี่ห้อฮับฮวด ระบุว่าเป็นค่าไม้สร้างที่ว่าการอำเภอ เจ้าของยี่ห้อฮับฮวดรับว่าได้ทำใบรับเงินดังกล่าวให้ จำเลยจริง แต่ไม่ได้รับตัวเงิน และใบรับนั้นลงวันย้อนหลังขึ้นไป ซึ่งไม่ใช่วันที่ออกใบรับ จำเลยทำใบกู้เงินจำนวนตรงกันให้ยี่ห้อฮับฮวดยึดถือไว้ โจทก์จึงฟ้องขอให้ ลงโทษจำเลยตาม กฎหมายลักษณอาญามาตรา ๗๑, ๑๓๑,๑๓๒,๓๑๔ (๒) (๓),๒๒๔,๒๒๕,๒๒๗,๒๒๙,๒๓๐ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉะบับที่ ๓ ) และที่ ๔)
ศาลชั้นต้นตัดสินว่าจำเลยมีผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๑ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๓ จำคุก ๓ ปี และผิดฐานปลอมหนังสือสำคัญตามมาตรา ๒๒๔ จำคุก ๒ ปี รวมเป็น ๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์ในข้อ กฎหมายว่า ที่ ศาลชั้นต้น ลงโทษ จำเลยตามมาตรา ๑๓๑ นั้นไม่ชอบเพราะ จำเลย ไม่มีหน้าที่รักษาเงิน หรือทรัพย์สิน จำเลยเป็นแต่รับหรือยืมไปจ่ายในฐานะเป็นผู้แทนกรมการจังหวัดพังงา ศาลอุทธรณ์ตัดสินยืนตาม ศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยขณะ นั้น เป็นข้าหลวงประจำจังหวัด และรับเงินไปเพื่อจัดซื้อไม้ทำที่ว่าการอำเภอในจังหวัดที่จำเลยรับราชการประจำอยู่ เป็นการถือได้ว่ามีหน้าที่ตามมาตรา ๑๓๑ เมื่อจำเลยยักยอกเอาเงินจำนวนนี้เป็นของจำเลย ๆ ก็ต้องมีผิดตามมาตรา ๑๓๑ ส่วนความผิดตามมาตรา ๒๒๔ ที่ ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำเลยมานั้นปรากฏว่าใบรับเงินราย ๒๘๐๐ บาทเป็นใบรับที่แท้จริงของยี่ห้อฮับฮวดทำให้แก่จำเลยการที่ราษฎรธรรมดาทำเอกสารอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นโดยจดข้อความเท็จลงไปนั้น ถ้ามิได้เจตนาให้เป็นหนังสือปลอม ย่อมจะลงโทษฐานปลอมหนังสือไม่ได้ และจำเลยไม่ได้ทำใบรับปลอมขึ้นอย่างไร ฉะนั้นจำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา ๒๒๔ อนึ่งในข้อหาฐานยักยอกตามมาตรา ๑๓๑ การที่ โจทก์ระบุวันกระทำผิดมาในฟ้องว่าระหว่างวันที่ เท่านั้นเท่านี้ในเมื่อไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจำเลยกระทำผิดวันใดเป็นฉะเพาะแล้วฟ้องนั้นก็เป็นฟ้องตาม ประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๕๘ (๕) ได้ จำเลยจะขอให้ยกฟ้องตาม ประมวล วิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๖๑ หาได้ไม่ จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๑๓๑ จำคุก ๓ ปี ส่วน ข้อหาฐานปลอมหนังสือให้ยกเสีย