คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใด ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าฟังการสอบสวนการมีบุคคลอื่นนั่งฟังขณะพยานให้การต่อพนักงานสอบสวน หาทำให้การสอบสวนนั้นเสียไปไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 จำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นสั่งรับประการแรกว่า ในขณะพยานโจทก์คนหนึ่งให้การต่อพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวน ได้มีบุคคลอื่นนั่งฟังการสอบสวนอยู่ด้วย ทำให้การสอบสวนเสียไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมายหรือผิดหน้าที่อย่างใด ทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าฟังการสอบสวน ดังนี้ลำพังแต่มีบุคคลอื่นนั่งฟังการสอบสวนอยู่ด้วยหาทำให้การสอบสวนนั้นเสียไปไม่ จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพยานโจทก์ดังกล่าวให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง พนักงานสอบสวน อ่านบันทึกให้ฟังทั้งสองครั้ง อ่านบันทึกครั้งแรกให้ฟังแล้วพูดว่า เหตุผลแค่นี้ไม่พอจะฆ่ากันตายได้ ฉีกบันทึกทิ้งแล้วทำขึ้นใหม่นั้น ไม่ปรากฏว่า ข้อความในบันทึกคำให้การครั้งที่ 2 ไม่ตรงกับปากคำที่พยานให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน หรือปากคำนั้นพยานไม่ได้ให้ด้วยความสมัครใจ หรือด้วยเหตุอันมิชอบอย่างอื่น ดังนี้จะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share