คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการสอบสวนคดีอาญา เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมาย หรือผิดหน้าที่อย่างใด ลำพังแต่มีบุคคลอื่นนั่งฟังการสอบสวนพยานอยู่ด้วย หาทำให้การสอบสวนนั้นเสียไปไม่
พยานให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนอ่านบันทึกให้ฟังทั้งสองครั้ง อ่านบันทึกครั้งแรกให้ฟังแล้วพูดว่า เหตุผลแค่นี้ ไม่พอจะฆ่ากันตายได้ จึงฉีกบันทึกทิ้งแล้ว ทำขึ้นใหม่ ไม่ปรากฏว่าข้อความในบันทึกคำให้การครั้งที่ 2 ไม่ตรงกับปากคำที่พยานให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน หรือปากคำนั้นพยานไม่ได้ให้ด้วยความสมัครใจ หรือด้วยเหตุอันมิชอบอย่างอื่นจะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางฉลวย ภูมิประพัทธ์ มารดาผู้ตายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐ ลงโทษจำคุก ๔ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นสั่งรับมาประการแรกว่า ในขณะพยานโจทก์คนหนึ่งให้การต่อพนักงานสอบสวน ได้มีบุคคลอื่นนั่งฟังการสอบสวนอยู่ด้วย ทำให้การสอบสวนเสียไปนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนคดีอาญาเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควรภายในขอบเขตบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในการสอบสวนคดีนี้ไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนได้กระทำผิดกฎหมาย หรือผิดหน้าที่อย่างใดทั้ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็มิได้บัญญัติห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าฟังการสอบสวน ดังนี้ลำพังแต่มีบุคคลอื่นนั่งฟังการสอบสวนอยู่ด้วย หาทำให้การสอบสวนนั้นเสียไปไม่ จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า สอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะพยานโจทก์ดังกล่าวให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน ๒ ครั้ง พนักงานสอบสวนอ่านบันทึกให้ฟังทั้งสองครั้ง อ่านบันทึกครั้งแรกให้ฟังแล้วพูดว่า เหตุผลแค่นี้ไม่พอจะฆ่ากันตายได้ ฉีกบันทึกทิ้งแล้วทำขึ้นใหม่นั้น ไม่ปรากฏว่า ข้อความในบันทึกคำให้การครั้งที่ ๒ ไม่ตรงกับปากคำที่พยานให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนหรือปากคำนั้นพยานไม่ได้ให้ด้วยความสมัครใจ หรือด้วยเหตุผลอันมิชอบ อย่างอื่น ดังนี้จะถือว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่จำเลย ฎีกา หาได้ไม่
พิพากษายืน

Share