คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2203/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความเกี่ยวพันกันระหว่างบริษัทจำเลยกับ น. ผู้เป็นกรรมการนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1167 บัญญัติให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน ดังนั้น การที่ น. ลาออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทจำเลยซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการบอกเลิกเป็นตัวแทนย่อมบอกเลิกเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่จำเลยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826, 827 หาใช่มีผลต่อเมื่อจำเลยได้นำไปจดทะเบียนไม่ ส่วนเรื่องการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทจะต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ และการแต่งตั้งกรรมการบริษัทจะต้องนำความไปจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1151 และ 1157 เท่านั้น ส่วนกรณีกรรมการบริษัทลาออกไม่มีบทกฎหมายบังคับไว้ เมื่อปรากฏว่าขณะที่ น. บอกเลิกจ้างโจทก์เป็นเวลาภายหลังที่ น. ลาออกจากบริษัทจำเลย น. ย่อมพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้ว จึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินต่าง ๆ อันเนื่องจากการเลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินช่วยเหลือตามข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานเนื่องจากจำเลยไม่ยอมจ้างโจทก์โดยไม่ใช่ความผิดของโจทก์แก่โจทก์รวมจำนวน ๔๘๐,๐๐๐.๘๐ บาท เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายของเงินค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินช่วยเหลือรวมจำนวน ๓๘๐,๐๐๐.๘๐ บาท นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๕ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน ๓๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่ควบคุมโครงการก่อสร้างโรงงานของจำเลยตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๔๔ และได้รับค่าจ้างเดือนละ ๑๕,๐๐๐ บาท ตลอดมา จนถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๔ งานในโครงการใกล้เสร็จ จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียง ๑๐,๐๐๐ บาท หลังจากนั้นไม่จ่ายค่าจ้างและไม่ได้มอบหมายงานใหม่ให้ทำ โจทก์เข้าใจว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ไปทำงานนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นมาโดยจำเลยไม่ได้บอกเลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ที่โจทก์อุทธรณ์ในประการแรกว่า ความเป็นกรรมการบริษัทย่อมสิ้นสุดลงโดยการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนบริษัท การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าขณะที่นายนทีบอกโจทก์ว่าจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน นายนทีพ้นจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยโดยการลาออกเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ แล้ว ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญาจ้างแทนจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเพิ่งมีการจดทะเบียนการลาออกจากกรรมการของนายนทีเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๔ ต้องถือว่าขณะบอกเลิกจ้างโจทก์นายนทียังเป็นกรรมการของจำเลย และการบอกเลิกสัญญาจ้างของนายนทีเป็นการกระทำในฐานะผู้แทนจำเลยนั้น เห็นว่า ความเกี่ยวพันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๖๗ ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. ว่าด้วยตัวแทน ซึ่งมาตรา ๘๒๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไปด้วยตัวการถอนตัวแทน หรือด้วยตัวแทนบอกเลิกเป็นตัวแทน และมาตรา ๘๒๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ตัวการจะถอนตัวแทน และตัวแทนจะบอกเลิกเป็นตัวแทนเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ เพียงแต่การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทจะต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ และการแต่งตั้งกรรมการบริษัทจะต้องนำความไปจดทะเบียนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๕๑ และ ๑๑๕๗ เท่านั้น ส่วนกรณีกรรมการบริษัทลาออกไม่มีบทกฎหมายบัญญัติแบบบังคับให้ต้องปฏิบัติไว้ ดังนั้น การที่นายนทีลาออกจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการบอกเลิกเป็นตัวแทน ย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่จำเลย คือตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ภายหลังจากนั้นนายนทีย่อมไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยต่อไปอีก ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ขณะที่นายนทีบอกเลิกจ้างโจทก์นายนทีพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้ว ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย และถือไม่ได้ว่าจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น… ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่านายนทีได้ตกลงกับโจทก์ว่าจะนับอายุงานของโจทก์ต่อเนื่องจากบริษัทเดิมที่โจทก์ทำงานอยู่เพื่อประโยชน์ในการคิดค่าชดเชย และตกลงจะจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้กรณีจำเลยผิดสัญญาโดยไม่จ้างโจทก์ทำงานต่อไปนั้น ทั้งโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในอุทธรณ์ประการแรกแล้วว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินต่าง ๆ อันเนื่องจากการเลิกจ้าง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มหนี้ค่าจ้างจากจำเลยนั้น เมื่อปรากฏว่าหนี้ดังกล่าวจำเลยยังมีข้อต่อสู้ถึงเหตุที่มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา กรณีจึงมิใช่จำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคสอง จำเลยไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มแก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share