คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้เช่าครอบครองนาพิพาทซึ่งเช่าทำจากเจ้ามรดก ถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งหมดของเจ้ามรดก ฉะนั้น ระหว่างทายาทด้วยกัน ย่อมฟ้องขอแบ่งมรดกทรัพย์พิพาทนี้ได้โดยไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์จะไม่ชนะคดีเต็มตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องจากจำเลยก็ตาม แต่ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหมดก็ได้เมื่อเห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยเป็นบุตรเขยโจทก์โดยจำเลยได้นางลูกจันทร์บุตรีโจทก์เป็นภริยาเมื่อ 20 ปีเศษ มีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ 7 คน นางลูกจันทร์ตายเมื่อ 2 ปีมานี้ เดิมที่นาโฉนดที่ 1155 ตำบลวัดบ่อ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 13 ไร่ 52 วา ราคาประมาณ 131,300 บาทเป็นของโจทก์ เมื่อโจทก์รับที่ดินมาก็ใส่ชื่อนางลูกจันทร์บุตรีไว้ แต่โจทก์และนางลูกจันทร์ได้ครอบครองเป็นเจ้าของร่วมกันตลอดมา เมื่อได้ค่าเช่าเป็นข้าวเปลือกก็แบ่งกันระหว่างนางลูกจันทร์กับโจทก์ เมื่อนางลูกจันทร์ตายไปราว 2 ปีมานี้ ก็แบ่งค่าเช่าข้าวเปลือกระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2509 จำเลยไปขอรับโอนมรดกที่ดินดังกล่าวมาเป็นชื่อของจำเลย โจทก์เพิ่งทราบเมื่อ 2-3 เดือนก่อนฟ้อง ความจริงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง แต่หากจะไม่ถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับนางลูกจันทร์ แต่มรดกของนางลูกจันทร์ย่อมตกแก่ทายาทคือ บุตร 7 คน โจทก์และจำเลยโจทก์จึงมีส่วนได้มรดก1 ใน 9 ส่วน ในที่ดินซึ่งเป็นส่วนของโจทก์ 291 เศษเจ็ดส่วนเก้าตารางวาจึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1155 ตำบลบ้านวัดบ่ออำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ให้โจทก์ในฐานะเจ้าของร่วมครึ่งหนึ่ง เป็นเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 26 วา หากไม่ถือว่าโจทก์ได้เป็นเจ้าของร่วม ก็ให้จำเลยแบ่งมรดกของนางลูกจันทร์ผู้วายชนม์ โดยให้จำเลยได้รับส่วนแบ่งเป็นเนื้อที่ 291 เศษเจ็ดส่วนเก้าตารางวา หากจำเลยไม่จัดการแบ่ง ก็ให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรีทำการจดทะเบียนสิทธิในโฉนดดังกล่าวให้จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมตามคำพิพากษา หากจำเลยไม่สามารถจะแบ่งที่ดินให้โจทก์ได้ ก็ให้จำเลยใช้เงินเป็นราคาที่ดินให้แก่โจทก์ตามส่วนของที่ดินที่โจทก์จะพึงได้

จำเลยให้การว่า จำเลยแต่งงานจดทะเบียนสมรสกับนางลูกจันทร์บุตรีโจทก์อันเกิดจากสามีคนที่ 1 ชื่อนายหลง และมีบุตร 7 คน เมื่อวันที่27 กันยายน 2506 นางลูกจันทร์ตายที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสและเป็นมรดก ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนางแตงพี่สาวโจทก์ ซึ่งโจทก์รับมรดกมาแล้วขายให้จำเลยเป็นเงิน 8,000 บาท แต่ทะเบียนลงว่าโจทก์รับมรดกจากนางแตงแล้วโอนให้นางลูกจันทร์ เมื่อนางลูกจันทร์ตายได้ครอบครองที่ดินนี้มาผู้เดียว โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้อง เมื่อ พ.ศ. 2509 จำเลยไปขอรับมรดก โจทก์ทราบก็ไม่คัดค้าน จำเลยจึงได้รับโอนมาโดยถูกต้อง อนึ่ง โจทก์ไม่ได้ครอบครองเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย จึงขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า โจทก์ยกที่พิพาทให้นางลูกจันทร์ไปแล้วจึงไม่ใช่เจ้าของร่วม ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสต้องแบ่งให้จำเลยกับนางลูกจันทร์คนละส่วน ส่วนของนางลูกจันทร์ตกเป็นมรดกแก่ทายาทคือ โจทก์ จำเลย กับบุตร 7 คน และฟังว่าเดิมผู้เช่าที่ดินเป็นผู้ครอบครองที่พิพาทแทนนางลูกจันทร์ ครั้นนางลูกจันทร์ถึงแก่กรรม ก็ถือว่าผู้เช่าครอบครองแทนทายาทของนางลูกจันทร์ เมื่อจำเลยรับโอนมรดกก็ไม่ได้ความว่าโจทก์รู้เห็นยินยอม คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้แบ่งที่พิพาทออกเป็น 2 ส่วน ให้จำเลยกับนางลูกจันทร์ได้คนละ 1 ส่วน เฉพาะส่วนนางลูกจันทร์เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ จำเลย กับบุตร 7 คนจึงให้แบ่งเป็น 9 ส่วน ให้โจทก์ได้ 1 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 291เศษเจ็ดส่วนเก้า ตารางวา แต่ปรากฏว่าจำเลยโอนขายที่พิพาทไปแล้ว จึงให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินให้โจทก์ตามส่วนดังกล่าว โดยคิดราคาที่ดินตามที่จำเลยโอนขายไป ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 600 บาทแทนโจทก์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ระหว่างอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรม นางทองคำบุตรีโจทก์อีกคนหนึ่ง(คนละพ่อ) ร้องขอรับมรดกความ ศาลอุทธรณ์อนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

คดีมาสู่ศาลฎีกาในปัญหาอายุความฟ้องโจทก์ และความรับผิดของจำเลยในค่าธรรมเนียมศาล

ในปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคงฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางสำเภาได้เช่านาพิพาทจากนางลูกจันทร์ตามสัญญาลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2497 และเช่าอยู่ตลอดมา แม้ภายหลังที่นางลูกจันทร์ถึงแก่กรรมลงแล้ว โดยที่นางสำเภาเป็นผู้เช่าซึ่งครอบครองนาพิพาทแทนนางลูกจันทร์อยู่ก่อน เมื่อนางลูกจันทร์ถึงแก่กรรม นาพิพาทที่เป็นมรดกนางลูกจันทร์ย่อมตกทอดได้แก่ ทายาท คือ ลูก 7 คน และโจทก์จำเลย การครอบครองของนางสำเภาผู้เช่าที่ครอบครองนาพิพาทต่อมาจึงเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งหลายของนางลูกจันทร์ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 922/249 ระหว่างเด็กหญิงพิญโญ ยมโชติโจทก์นายรื่น ยมโชติ จำเลยเพราะหลังจากนางลูกจันทร์ถึงแก่กรรมแล้ว น่าเชื่อว่าโจทก์ยังคงได้รับค่าเช่าเป็นข้าวจากผู้เช่าอยู่ต่อมา ดังจะเห็นได้จากฎีกาของจำเลยก็ไม่ได้ โต้เถียงว่าโจทก์ไม่ได้รับค่าเช่าหลังจากนางลูกจันทร์ตายจำเลยคงโต้แย้งเพียงว่า แม้จะเชื่อว่าโจทก์ได้รับค่าเช่าหลังจากนางลูกจันทร์ตาย ก็ได้ค่าเช่าเพียง 1 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นโจทก์ก็ไม่ได้รับค่าเช่าอีก ศาลฎีกาเชื่อว่า แม้หลังนางลูกจันทร์ตายโจทก์ก็คงได้รับค่าเช่าอยู่ จึงยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าการที่นางสำเภาผู้เช่าครอบครองนาพิพาทหลังจากนางลูกจันทร์ตายแล้วนั้น เป็นการครอบครองแทนทายาทซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วยโจทก์ โจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ในปัญหาว่า จำเลยควรรับผิดชอบเพียงจำนวนทุนทรัพย์ที่แพ้คดีแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้มีทุนทรัพย์ 131,300 บาท แม้โจทก์จะไม่ชนะเต็มตามที่เรียกร้อง แต่ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจให้ใช้ค่าธรรมเนียมตามที่เห็นสมควรได้ ตามมาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

พิพากษายืน

Share