คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2201/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีส่วนอาญาจะเป็นคำพิพากษาของศาลทหาร ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลก็จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญานั้น ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 54

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2ได้ร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสาม โดยชกต่อยและใช้หลอดนีออนและไม้ตีทำร้ายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1ที่ 2 ถูกฟ้องและศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) พิพากษาลงโทษคดีถึงที่สุดแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หากแต่โจทก์ทั้งสามกลุ้มรุมทำร้ายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก่อน จึงทำการตอบโต้เพื่อป้องกันตัวหากจะฟังว่าจำเลยเป็นฝ่ายละเมิดจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดเพราะเป็นการสมัครใจวิวาทกัน

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า กรณีเป็นเรื่องวิวาท ไม่เป็นละเมิด ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสาม

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นคำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ไม่ใช่ศาลพลเรือน ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าแม้คดีส่วนอาญาจะพิพากษาโดยศาลทหารกรุงเทพ(ศาลอาญา) ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลก็จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา ทั้งนี้ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498มาตรา 54 ข้อเท็จจริงจำต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ฝ่ายเดียวและวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เป็นการชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share