แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เล่นการพนันในที่ทำงานและในเวลาทำงาน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถือได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงซึ่งจำเลยมีอำนาจลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดได้การที่จำเลยลงโทษโจทก์โดยเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย จึงกระทำได้โดยชอบตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3)
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวนหนึ่งจำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาว่าการที่โจทก์ทั้งสองกระทำความผิดอย่างร้ายแรงโดยเล่นการพนันในที่ทำงานเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น จำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์ โดยเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่
เห็นว่า เนื่องจากการประพฤติผิดวินัยตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหมาย ล.2/1 หมวด 6 ข้อ 2 ได้วางโทษไว้ตั้งแต่โทษเบาไปถึงโทษหนักตามลำดับ คือ
2.1 ตักเตือนด้วยวาจา
2.2 ตักเตือนและภาคทัณฑ์เป็นลายลักษณ์อักษร
2.3 พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง
2.4 ปลดออกจากงาน
2.5 ปลดออกจากงานโดยมิได้รับเงินชดเชย และอื่น ๆ
โทษเหล่านี้จำเลยอาจเลือกใช้ลงโทษได้ตามความหนักเบาแห่งความผิดการที่จำเลยเคยลงโทษลูกจ้างซึ่งกระทำความผิดฐานเล่นการพนันด้วยการใช้พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามข้อ 2.3 และประกาศว่าถ้ามีผู้กระทำผิดอีกจะลงโทษให้หนักขึ้นนั้น มิได้เป็นการจำกัดว่าต่อไปจะต้องลงโทษตามข้อ 2.4 จะลงโทษหนักกว่านั้นมิได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์กระทำความผิดฐานเล่นการพนันซึ่งเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยย่อมมีอำนาจลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดได้การที่จำเลยลงโทษโจทก์ทั้งสองโดยเลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย จึงกระทำได้โดยชอบตามข้อบังคับหมาย ล.2/1 หมวด 6 ข้อ 2.5 และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง”