คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายบริหารของจำเลยกล่าวหาว่า น. และ ม. ลูกจ้างของจำเลยปลอมเอกสารอันเป็นความผิดอาญาและเสนอให้จำเลยดำเนินคดีแก่บุคคลทั้งสอง ทั้งๆ ที่โจทก์ยังตรวจสอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไม่ครบถ้วน จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ ผลของการกระทำของโจทก์คือจำเลยได้เลิกจ้าง น. และ ม. โดยไม่จำเลยค่าชดเชยซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของลูกจ้างจำเลย ทำให้ระบบบริหารงานบุคคลของจำเลยเสียหาย และการดำเนินงานของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานของบุคคลทั้งสองที่ถูกเลิกจ้างต้องหยุดชะงักไปด้วย
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุว่าลูกจ้างที่ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายจะถูกลงโทษขั้นปลดออกจากงาน แสดงว่าจำเลยมุ่งประสงค์ลงโทษลูกจ้างที่ทำงานประมาทเลินเล่อถึงขั้นเลิกจ้างเฉพาะกรณีทำให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายเท่านั้น จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายในระบบการบริหารงานบุคคลและการดำเนินงานซึ่งไม่ใช่ความเสียหายเป็นทรัพย์สินตามความประสงค์ของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (3) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามมาตรา 118 (1) แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย วันที่ 19 กันยายน 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างเพราะจำเลยต้องการจ้างบุคคลอื่นมาทำงานแทนโจทก์ และจำเลยกับโจทก์มีแนวความคิดในการทำงานขัดแย้งกัน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 30,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 150,000 บาท และคืนเงินสะสม 4,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมจำเลยจ้างโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายบริหาร มีหน้าที่บริหารงานซึ่งรวมถึงงานการบุคคลด้วย เป็นการจ้างตามที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง แต่ความจริงโจทก์ไม่มีความสามารถตามที่อ้าง กล่าวคือโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์แถลงว่า โจทก์ได้รับเงินสะสม 4,000 บาท จากจำเลยแล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องเงินจำนวนนี้อีก
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2546 ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่หัวหน้าแผนกอาคารสถานที่ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 30,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ไม่มีกำหนดการจ้างแน่นอน วันที่ 18 กันยายน 2546 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ไปสอบถามราคาสินค้าที่นายนเรณทร์ ศรีปานรอด และนายมนฑล ลาภคำนนท์ ลูกจ้างของจำเลยซื้อมาจากร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ โดยไม่นำบิลเงินสดเอกสารหมาย ล.4 และกระปุกซิลิโคนไปให้ร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ ตรวจดู แล้ววินิจฉัยว่า บิลเงินสดเอกสารหมาย ล.4 ออกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2546 ระบุว่าซื้อซิลิโคน 1 หน่วยราคา 160 บาท ห่างจากระยะเวลาที่โจทก์สอบถามราคาสินค้าเพียง 6 เดือน แต่นางสาวนิตยา สังหอ ผู้จัดการร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ มีหนังสือเอกสารหมาย จ.1 รับรองว่าไม่มีซิลิโคนชนิดกระปุกราคากระปุกละ 160 บาท ขายมาเป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน แล้ว ย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่าซิลิโคนราคากระปุกละ 160 บาท ไม่มีจำหน่ายจริงในขณะที่ออกสารหมาย ล.4 ส่วนราคาปุ่มวีอาร์และท่อหดตามเอกสารหมาย ล.4 ก็มีราคาสูงกว่าที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ.1 มีเหตุผลเพียงพอให้โจทก์เชื่อได้ว่านายนเรณทร์และนายมนฑลผู้ซื้อสินค้าตามเอกสารหมาย ล.4 ทุจริตนำบิลเงินสด ที่มีราคาสูงกว่าความจริงมาเบิกเงินจากจำเลย อันเป็นความผิดวินัยร้ายแรง การที่โจทก์ทำหนังสือขอเลิกจ้างลูกจ้างจำเลยทั้งสองคนตามเอกสารหมาย ล.3 โดยให้เหตุผลและเสนอหลักฐานตามข้อมูลที่ได้รับจากนางสาวนิตยาโดยผ่านการกลั่นกรองและอนุมัติให้เลิกจ้างจากนายสุรสิทธิ์ วรรณารักษ์ ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยทราบก่อนออกหนังสือเลิกจ้างอันเป็นการกระทำตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยโดยชอบ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เจตนากลั่นแกล้งเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสองคน โจทก์ไม่นำบิลเงินสดและกระปุกซิลิโคนไปให้ร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ ตรวจสอบเพื่อไม่ให้ทางร้านรู้ตัวผู้ซื้อและเพื่อหาข้อมูลให้ได้ตามความเป็นจริง เป็นการกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้จำเลยไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ หนังสือรับรองของนางสาวนิตยาฉบับหลังตามเอกสารหมาย ล.7 ที่อ้างว่า การออกเอกสารหมาย จ.1 เกิดจากความสับสนเพราะโจทก์ไม่นำใบเสร็จรับเงินและตัวอย่างกระปุกซิลิโคนมาให้ดูมีน้ำหนักน้อย ไม่อาจรับฟังได้ว่าเอกสารหมาย ล.3 และ จ.1 เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความจริง ไม่อาจสรุปข้อเท็จจริงได้ว่าข้อมูลที่โจทก์นำมาเลิกจ้างลูกจ้างทั้งสองคนไม่เป็นความจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างหรือไม่ โจทก์ไม่มีเจตนาหรือประมาทกล่าวโทษให้ร้ายลูกจ้างทั้งสองคนหลังจากมีคำสั่งเลิกจ้างเพียงสองถึงสามวัน ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทั้งสองคนก็กลับเข้าทำงานกับจำเลยใหม่ จำเลยไม่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์ไม่ได้รายงานเท็จในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานก่อนนำเสนอผู้บริหารของจำเลย การกระทำของโจทก์ไม่ใช่การกระทำผิดหน้าที่ ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 และไม่ใช่กรณีมีเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่และพาณิชย์ มาตรา 583 ที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 30,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 41,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 20,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์สอบถามราคาสินค้าตามบิลเงินสดเอกสารหมาย ล.4 จากนางสาวนิตยา สังหอ ผู้จัดการร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ โดยไม่แสดงเอกสารหมาย ล.4 และกระปุกซิลิโคนต่อนางสาวนิตยา แล้วโจทก์เสนอผู้บังคับบัญชาตามเอกสารหมาย ล.3 ให้จำเลยเลิกจ้างนายนเรนทร์ ศรีปานรอด และนายมนฑล ลาภคำนนท์ ลูกจ้างของจำเลยผู้ซื้อสินค้าตามเอกสารหมาย ล.4 เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไปสอบถามราคาสินค้าที่นายนเรณทร์และนายมนฑลซื้อมาจากร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ โดยไม่นำบิลเงินสดเอกสารหมาย ล.4 และกระปุกซิลิโคนไปให้ร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ ตรวจดู แล้วโจทก์ทำหนังสือเอกสารหมาย ล.3 ขอเลิกจ้างนายนเรณทร์และนายมนฑล เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.3 โจทก์กล่าวหาว่านายนเรณทร์และนายมนฑลปลอมแปลงบิลเงินสดเอกสารหมาย ล.4 หรือทำหลักฐานรายงานเท็จโดยการปลอมแปลงราคาซิลิโคน ปุ่มวีอาร์ และท่อหด โดยที่เอกสารหมาย ล.4 เป็นเอกสารของร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ การที่โจทก์ไม่ได้นำเอกสารหมาย ล.4 ให้นางสาวนิตยาผู้จัดการร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ครั้งที่สอง ผู้เป็นเจ้าของเอกสารตราจดูว่าเป็นเอกสารที่ทางร้านออกจริงหรือไม่ ข้อความระบุราคาในเอกสารหมาย ล.4 ถูกต้องหรือไม่ ทั้งที่ปรากฏว่าในการไปตรวจสอบราคาสินค้าที่ร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ครั้งที่สอง โจทก์นำบิลเงินสดเอกสารหมาย ล.4 ใส่กระเป๋าเสื้อไปด้วย ซึ่งโจทก์สามารถตรวจสอบด้วยการแสดงเอกสารดังกล่าวให้เจ้าของเอกสารตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารได้โดยง่ายแต่ไม่ทำ การรวบรวมพยานหลักฐานว่ามีการปลอมเอกสารหมาย ล.4 หรือไม่จึงยังไม่ครบถ้วน ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าหลังจากเลิกจ้างนายนเรณทร์และนายมนฑลแล้ว นายเรนทร์และนายมณฑลโต้แย้งว่า ได้ซื้อสินค้าตามเอกสารหมาย ล.4 จริง โจทก์จึงให้บุคคลทั้งสองนำสำเนาเอกสารหมาย ล.4 และกระปุกซิลิโคนไปตรวจสอบที่ร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ หลังจากทางร้านตรวจสอบแล้วว่าสินค้านั้นซื้อมาจากร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ จริง โจทก์ก็เชื่อว่านายเรณทร์และนายมณฑลซื้อสินค้าตามราคาที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย ล.4 จากร้านไพศาลอิเลคโทรนิค สาขารัตนาธิเบศร์ จริง แต่ในขณะที่ยังตรวจสอบพยานหลักฐานไม่ครบถ้วนโจทก์กลับกล่าวหาว่านายนเรณทร์และนายมนฑลปลอมเอกสารหมาย ล.4 อันเป็นความผิดอาญาและเสนอให้จำเลยดำเนินคดีแก่นายนเรณทร์และนายมนฑลตามเอกสารหมาย ล.3 แม้ว่าโจทก์รายงานการตรวจสอบราคาตามหนังสือรับรองของนางสาวนิตยาตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่เป็นความเท็จ แต่การรายงานดังกล่าวกระทำโดยโจทก์ยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่ครบถ้วนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญของข้อกล่าวหา เป็นการที่โจทก์ไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอเป็นการกระทำโดยประมาณเลินเล่อในการกล่าวหาว่านายนเรณทร์และนายมนฑลกระทำความผิดอาญาฐานปลอมเอกสาร ผลการกระทำของโจทก์คือจำเลยโดยตัวโจทก์เองในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหาร (ตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย ล.3 และหนังสือแจ้งการเลิกจ้างตามเอกสารหมาย ล.6) ได้เลิกจ้างนายนเรณทร์และนายมนฑลโดยไม่จ่ายค่าชดเชย การกระทำของโจทก์เป็นที่เห็นได้ว่าย่อมมีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของลูกจ้างจำเลย ทำให้ระบบบริหารงานบุคคลของจำเลยเสียหาย และการดำเนินงานของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานของนายนเรณทร์และนายมนฑลต้องหยุดชะงักในระหว่างที่เลิกจ้างนายนเรณทร์และนายมนฑลด้วย แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่า หลังจากมีคำสั่งเลิกจ้างเพียงสองถึงสามวัน จำเลยก็รับนายนเรณทร์และนายมนฑลกลับเข้าทำงานอีกประกอบกับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 3 ตารางข้อ 21 ระบุว่าลูกจ้างที่ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายจะถูกลงโทษขั้นปลดออกจากงาน แสดงว่าจำเลยมุ่งประสงค์ลงโทษลูกจ้างที่ทำงานประมาทเลินเล่อถึงขั้นเลิกจ้างเฉพาะกรณีทำให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายเท่านั้น จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยเสียหายในระบบการบริหารงานบุคคลและการดำเนินงานซึ่งไม่ใช่ความเสียหายเป็นทรัพย์สินตามความประสงค์ของข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ดังนั้น กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามมาตรา 118 (1) แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริหารให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 แก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุปฏิบัติงานด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์เกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share