คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในฎีกาจะระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นฎีกา ซึ่งโจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาว่าการโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในคดีนี้ สืบเนื่องจากการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 2 ได้คัดค้านมาโดยตลอด เนื้อหาในฎีกาก็เป็นการอ้างสิทธิของจำเลยที่ 2 ว่าศาลควรให้โอกาสแก่จำเลยดำเนินการจัดการทรัพย์สินที่ถูกยึด ใจความและเหตุผลน่าจะเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ทนายความที่ดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ก็เป็นทนายความผู้เรียงฎีกาคนเดียวกัน การระบุชื่อของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้ฎีกาตามแบบพิมพ์ จึงเป็นข้อผิดหลง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาจึงเป็นอันตกไป การที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307จะต้องเป็นกรณีที่ตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเองในปัจจุบันมีรายได้ประจำปีจากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพราะการนำยึดอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะดังนี้ออกขายทอดตลาดโดยตรง อาจนำความเสียหายมาสู่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจสูญเสียทรัพย์สินที่เคยใช้ประกอบอาชีพและมีรายได้ที่ได้รับ โดยสม่ำเสมอเป็นประจำดังนั้น บทบัญญัติในวิธีการบังคับคดีจึงให้โอกาสแก่คู่ความที่จะเลือกใช้วิธีการบังคับคดีตามมาตรา 307 ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็อาจได้รับชำระหนี้ของตนได้เต็มตามจำนวนจนเป็นที่พอใจ เมื่อทรัพย์สินที่ถูกนำยึดไม่มีรายได้หรือมีการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมในขณะนั้นตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ขอหมายบังคับคดีนำยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้งดการขายไว้ก่อน และแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทรัพย์สินตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาของจำเลยโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นฎีกาของจำเลยที่ 1 หรือของจำเลยที่ 2แม้ว่าในฎีกาจะระบุว่านางสาวสาลี่ ทรายสถิตย์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1ขอยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และโจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาว่า การโต้แย้งเป็นข้อพิพาทในคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการยึดที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้คัดค้านมาโดยตลอด เนื้อหาในฎีกาก็เป็นการอ้างสิทธิของจำเลยที่ 2 ว่าศาลควรให้โอกาสแก่จำเลยดำเนินการจัดการทรัพย์สินที่ถูกนำยึดว่าจำเลยสามารถทำให้มีรายได้เพิ่มพูนได้ ใจความและเหตุผลดังกล่าว น่าจะหมายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ทั้งทนายความผู้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนถึงชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ก็เป็นนายสิงห์เทพ ศิริทัพ ทนายความผู้เรียงฎีกาคนเดียวกัน การระบุชื่อของจำเลยที่ 1 ว่าเป็นผู้ฎีกาตามแบบพิมพ์จึงเป็นข้อผิดหลงที่ศาลฎีกาเห็นว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว จำเลยที่ 2เป็นผู้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิฎีกาจึงเป็นอันตกไป
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่โต้แย้งขึ้นมาว่า ควรให้โอกาสแก่จำเลยเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเพื่อนำรายได้มาชำระหนี้ให้โจทก์เป็นรายปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307ซึ่งมีผลเป็นการขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์นำยึดไว้นั้น ข้อนำสืบของคู่ความดังกล่าวรับฟังเป็นยุติว่าที่ดินทั้งสองแปลงของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์นำยึด เป็นที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดคงโต้เถียงกันเพียงว่า มีพืชไร่หรือไม่เท่านั้น ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 อ้างว่าโจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งอื่น เป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ประโยชน์หารายได้ทางอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมทำอาหารสัตว์ ที่ดินที่นำยึดในคดีนี้เป็นที่ดินเกี่ยวพันกันกับทรัพย์สินที่ใช้ทำอาหารสัตว์ แต่ในชั้นไต่สวนคำร้อง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดได้ใช้ประโยชน์จากการประกอบอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมอย่างใด คงเบิกความเพียงว่ามีโรงงานผลิตอาหารสัตว์อยู่ที่อำเภอปากช่อง มีราคาทรัพย์สินรวมโรงงานและเครื่องจักรเป็นเงิน17,000,000 บาท ส่วนที่ดินที่ถูกโจทก์นำยึด ใช้เป็นที่ปลูกพืชไร่ ซึ่งแม้จะเป็นความจริง พืชไร่ดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีความเกี่ยวข้องในกระบวนการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมตามคำร้องเช่นใด การที่จะร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นเองในปัจจุบันมีรายได้ประจำปีจากการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การนำยึดอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะดังนี้ออกขายทอดตลาดโดยตรง อาจนำความเสียหายมาสู่ฝ่ายเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือฝ่ายลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้โดยเฉพาะลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจสูญเสียทรัพย์สินที่เคยใช้ประกอบอาชีพและมีรายได้ที่ได้รับโดยสม่ำเสมอเป็นประจำดังนั้น บทบัญญัติในวิธีการบังคับคดีจึงให้โอกาสแก่คู่ความที่จะเลือกใช้วิธีการบังคับคดีตามมาตรา 307 ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็อาจได้รับชำระหนี้ของตนได้เต็มตามจำนวนจนเป็นที่พอใจ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ทรัพย์สินที่ถูกนำยึดหาได้มีรายได้หรือมีการประกอบการอุตสาหกรรมหรือพาณิชยกรรมในขณะนั้น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของมาตรา 307 ไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติที่จำเลยที่ 2อาศัยเป็นหลักกฎหมายและฎีกาขึ้นมาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share