คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายกรัฐมนตรีจะสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ไม่เป็นการตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่จะส่งเรื่องให้พนักงาน-อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ป.ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้คัดค้านที่ 1 ร่ำรวยผิดปกติคณะกรรมการ ป.ป.ป. จึงได้ทำการสืบสวนสอบสวนเรื่อยมาและได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาล เป็นการกระทำเกี่ยวพันสืบต่อกันมาโดยมุ่งหมายถึงทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้ขณะยื่นคำร้องผู้คัดค้านที่ 1 เกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 นั้น ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแทนผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ตกเป็นของแผ่นดิน
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ที่บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาโดยมิชอบตกเป็นของแผ่นดินนั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอันเป็นวิธีการทางวินัยเท่านั้น มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักกฎหมายที่ว่าบุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ ดังนั้น กฎหมายนี้ย้อนหลังไปบังคับถึงทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาโดยมิชอบและยังคงมีอยู่ในขณะที่กฎหมายนี้ใช้บังคับได้เพราะการได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบด้วยหน้าที่นั้นเป็นการผิดวินัยตั้งแต่ที่ได้รับมา
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 จัตวา เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการสอบสวนโดยมีกำหนดระยะเวลา มิใช่มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่ออกจากราชการไปแล้ว
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่ได้แสดงสินทรัพย์และหนี้สินตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2524 ก็ตาม

Share