คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินเป็นของแผ่นดินตามมาตรา20แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯไม่จำเป็นต้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งลงโทษไล่ออกเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร่ำรวยผิดปกติเสียก่อนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นวิธีการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอันเป็นวิธีการทางวินัยไม่ใช่การลงโทษทางอาญาที่บุคคลจะต้องรับโทษต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้กฎหมายนี้จึงใช้ย้อนหลังไปบังคับถึงทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาโดยมิชอบและยังคงมีอยู่ได้ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นหรือบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนพระราชบัญญัติญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา21จัตวาที่ว่าแม้ภายหลังผู้นั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปด้วยเหตุอื่นนอกจากตายก็ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการต่อไปได้แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน1เดือนนับแต่ผู้นั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจคณะกรรมการสอบสวนโดยมีกำหนดระยะเวลามิใช่มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่ออกจากราชการไปแล้วพระราชบัญญัติญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมีเจตนารมณ์ใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนไม่ว่าผู้นั้นจะแสดงทรัพย์สินและหนี้สินตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐพ.ศ.2524หรือไม่ก็ตาม

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อระหว่างปี 2492 ถึงวันที่ 30กันยายน 2528 ผู้คัดค้านที่ 1 รับราชการสังกัดกระทรวงกลาโหมมีผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภรรยาและมีบุตรคือผู้คัดค้านที่ 3 ยังไม่บรรลุนิติภาวะและอยู่ในความปกครองของบุคคลทั้งสอง เมื่อ 2522คณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้รับการร้องเรียนเป็นหนังสือกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 ว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยได้ลงทุนก่อสร้างหมู่บ้านพรสวรรค์ที่ปากน้ำชุมพรมูลค่า 40,000,000 บาท ลงทุนในบริษัททรานส์โอเชี่ยนไลน์คอร์เปอเรชั่นจำกัด (เดินเรือทางทะเล)เป็นหุ้นส่วนประมาณ 15,000,000 ถึง 16,000,000 บาท สร้างบ้านพักในเนื้อที่ 4-5 ไร่ ที่อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐมราคาหลายล้านบาท ลงทุนเปิดร้านอาหารในต่างประเทศ ลงทุนในโรงแรมปอยหลวงจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการ ป.ป.ป.จึงได้ให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาข้อมูลในเบื้องต้นได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากกว่ารายได้ที่ได้รับจากทางราชการตามที่แสดงไว้ในรายการเสียภาษีเงินได้เป็นจำนวนมาก ตรวจสอบถึงเดือนมิถุนายน 2526 ผู้คัดค้านทั้งสามมีทรัพย์สินมูลค่ารวม 71,094,000.23 บาท โดยมีหลักฐานว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 6,624,425.22 บาท มีหลักฐานว่าผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จำนวน 54,469,575.01 บาทและมีหลักฐานว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อีก10,000,000 บาท เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ร่ำรวยขึ้นผิดปกตินอกจากนั้นยังปรากฏหลักฐานว่ามีทรัพย์สินของธิดาและญาติของผู้คัดค้านที่ 1 กับญาติของผู้คัดค้านที่ 2 และผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ใกล้ชิด ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 โดยใช้ชื่อบุคคลอื่นดังกล่าวเป็นเจ้าของแทนหรือโดยผู้คัดค้านที่ 1ยกให้ รวมทั้งหุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด รวมเป็นมูลค่า143,000,000 บาทเศษ แต่ปรากฏว่าหลักฐานรายได้โดยชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในระหว่างปี 2515 ถึงปี2523 มีรายได้รวม 1,326,619.96 บาท ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 ไม่มีรายได้ ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นรายการแสดงสินทรัพย์และหนี้สินคณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้พิจารณาสอบสวนแล้วได้ความว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามดังกล่าวรวมกันแล้วมีมากกว่ารายได้ดังกล่าวถึง 69,767,380.27 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ไม่สามารถแสดงได้ว่าได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาในทางที่ชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ป. จึงวินิจฉัยและมีมติเอกฉันท์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีทรัพย์สินร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติ แล้วรายงานความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีและแจ้งให้ผู้ร้องดำเนินการยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้อง จำนวน 69,767,380.27บาท จากทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เรียกผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3เข้ามาเป็นคู่ความในคดีศาลชั้นต้นอนุญาต
ผู้คัดค้านที่ 1 คัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ป. จะต้องรายงานผลการสอบสวนและเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งลงโทษไล่ออกแล้วจึงจะร้องขอให้ศาลวินิจฉัยให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ กรณีสำหรับคดีนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณาจึงยังไม่มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้คัดค้านที่ 1 ออกจากราชการผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ เมื่อวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพราะเกษียณอายุราชการแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง คณะกรรมการ ป.ป.ป. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยถึงทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติ ฉบับนี้ใช้บังคับ และยังไม่มีผลบังคับถึงทรัพย์สินที่มีชื่อหรือหลักฐานว่าเป็นของผู้อื่น และเมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้รับโทษทางวินัยและไม่ได้รับโทษทางอาญาอื่นใดก็จะดำเนินการลงโทษทางอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 26 และ33 และคำสั่งกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2529 ให้ข้าราชการทหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม แสดงทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการทหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น เป็นคำสั่งออกมาภายหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากนี้คำร้องยังเคลือบคลุมผู้คัดค้านที่ 1 เข้ารับราชการตั้งแต่ปี 2490 ซึ่งถ้าหากรวมทรัพย์สินที่ได้รับมาแต่ต้นแล้วก็จะเห็นได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1ไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ บัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องไม่ถูกต้อง และส่วนมากไม่ได้เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 หรือของผู้คัดค้านที่ 2 หรือผู้คัดค้านที่ 3 การตีราคาและการคำนวณซ้ำซ้อนและเกินความจริงทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ก็เป็นสินเดิมบ้าง ได้มาโดยเสน่หาบ้าง ได้มาจากการทำมาหาได้โดยชอบ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน8,252,000 บาท สำหรับเงินมรดกและดอกผลและบ้านที่อยู่อาศัยรวมกับรายได้ดังกล่าวแล้วเป็นเงินประมาณ 24,670,000 บาททรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ล้วนไม่เกี่ยวข้องเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้มอบให้ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 27 เป็นของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด ที่ดินอื่นตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาโดยชอบหุ้นบริษัททรานส์โอเชี่ยนไลน์คอร์เปอเรชั่นจำกัด และหุ้นบริษัทปอยหลวงจำกัด ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโดยเสน่หาจากนางยุพดี ณ ระนองสำหรับหุ้นธนาคารทหารไทยจำกัดผู้คัดค้านที่ 1 ได้เริ่มซื้อมาตั้งแต่ปี 2502 เรื่อยมา ส่วนพันธบัตรองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็ได้มาด้วยเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาโดยชอบ สำหรับเงินฝากธนาคารกรุงเทพจำกัด เป็นเงินที่มีอยู่ก่อนพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับจึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายนี้ และหลังจากพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ใช้บังคับแล้วผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้นำดอกผลจากเงินดังกล่าวไปฝากสมทบรวมกับเงินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 1 เข้าไปอีก จึงเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบ สำหรับเงินฝากธนาคารกรุงเทพจำกัด ผู้คัดค้านที่ 1 ถือแทนนางยุพดีในกิจการของบริษัททรานส์โอเชี่ยนไลน์คอร์เปอเรชั่นจำกัด ส่วนบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทยจำกัด ผู้คัดค้านที่ 1 เพิ่งเปิดหลังจากถูกร้องเรียนแล้ว สำหรับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นของภรรยาผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมดโดยได้มาโดยชอบ ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้มอบให้ รายได้ของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ได้มาโดยชอบมีจำนวนมากกว่าทรัพย์สินที่มีอยู่ สำหรับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นของบุตรผู้คัดค้านที่ 1 เอง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้มอบให้ แต่ได้รับจากญาติและมิตรสนิทเมื่อปี 2525 ราคาหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ 3ถือครองอยู่มีราคาไม่เกินหุ้นละ 300 บาท ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 คัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติฉบับที่ผู้ร้องกล่าวหาและไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1ไม่ได้มอบทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 2 ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2หามาได้โดยชอบทั้งสิ้นจนถึงปี 2517 ทำให้มีรายได้ประมาณ40,000,000 บาท แล้วได้นำเงินดังกล่าวมาลงทุนในกิจการบางอย่างเช่น บริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด จนกระทั่งปัจจุบันได้เงินจากการจัดงานครบรอบแต่งงานทุกปีรวมประมาณ 5,000,000 บาท มรดก3,000,000 บาท ได้มาโดยการให้โดยเสน่หาจากผู้ใหญ่และญาติมิตรในโอกาสต่าง ๆ ประมาณ 500,000 บาท เงินเลี้ยงดูจากบุตรบุญธรรมตั้งแต่ปี 2520 ประมาณปีละ 500,000 บาท เงินดอกผลจากรายได้ดังกล่าวประมาณ 10,000,000 บาท สำหรับทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์บางรายการนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ได้มาโดยเสน่หาเพื่อจัดการแบ่งให้ทายาทอื่นก่อนพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้บางแปลงซื้อมาด้วยเงินส่วนตัว บางแปลงซื้อไว้เพื่อเตรียมเป็นที่ก่อสร้างโรงแรมของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด ซึ่งซื้อแทนบริษัทดังกล่าว ที่ดินและบ้านบางแห่งเป็นมรดกตกแก่ผู้คัดค้านที่ 1บางแห่งเป็นของผู้อื่น สำหรับหุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัดนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 มีเพียง 4,250 หุ้น สำหรับเงินในบัญชีเงินฝากในธนาคาร 51 บัญชีนั้น เป็นของผู้คัดค้านที่ 2 โดยชอบ บางส่วนเป็นของผู้อื่นที่ผู้คัดค้านที่ 2 ถือแทนและจะต้องชำระให้แก่บริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด เป็นจำนวน 13,070,000 บาท คงเหลือเป็นเงินของผู้คัดค้านที่ 2 อยู่ประมาณ 6,500,000 บาทนอกนั้นเป็นดอกเบี้ยจำนวน 3,855,245.27 บาท ผู้คัดค้านที่ 2ไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 3 คัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องคดีนี้ สำหรับหุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด ของผู้คัดค้านที่ 3 นั้น เพิ่งได้รับเมื่อปี 2525 ภายหลังเมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้ถูกร้องเรียนแล้ว โดยได้รับมาโดยชอบด้วยเมตตาของญาติผู้ใหญ่ คือบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด ได้ยินยอมรับที่ดินของผู้คัดค้านที่ 3 ที่นำเข้ามาเป็นค่าหุ้นของผู้คัดค้านที่ 3 ส่วนหนึ่ง จำนวน5,500 หุ้น และได้รับจากผู้อื่นอีก 4,500 หุ้น โดยเสน่หาและไม่ได้เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 เลย และหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าไม่เกินหุ้นละ 300 บาท เพราะกิจการขาดทุนมีหนี้สินประมาณ44,000,000 บาท ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินต่าง ๆ ตามคำร้องขอเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเป็นการร้องขอให้บังคับเอาแก่ตัวบุคคลคือผู้คัดค้านทั้งสามเป็นสำคัญ จึงเป็นคำร้องขอซึ่งไม่เกี่ยวด้วยทรัพย์ ต้องร้องขอต่อศาลที่ผู้คัดค้านทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตนั้น แต่ปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสามว่า ผู้คัดค้านทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตของศาลแพ่งธนบุรี ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งธนบุรีไม่ชอบที่จะมาร้องขอต่อศาลนี้ซึ่งไม่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับคำร้องขอของผู้ร้องเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 คืนคำร้องขอไปเพื่อให้ผู้ร้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์คำสั่ง แต่ภายหลังผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา ที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะร้องและไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ยังไม่ควรชี้ขาดในชั้นนี้ พิพากษายืน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้หุ้นในบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัดจำนวน 9,250 หุ้น และ 10,000 หุ้น ที่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3ถืออยู่มูลค่า 9,250,000 บาท และ 10,000,000 บาท ตามลำดับกับเงินฝากในธนาคารกสิกรไทยสาขาปากน้ำอำเภอเมืองชุมพรจังหวัดชุมพร จำนวน 23 บัญชี ได้แก่ บัญชีเลขที่ 1543, 1544, 1545,1546, 2316, 3298, 3416, 3525, 3572, 3644, 3716, 3817,3859,4223, 5068, 5152, 5185, 5296, 5444, 5506, 5573,5661 และ 5783 ซึ่งฝากในนามผู้คัดค้านที่ 2 ตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบรับกันฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 รับราชการทหารตั้งแต่ปี 2490 ถึงปี 2528 โดยในระหว่าง 2515 ถึงปี 2528ดำรงตำแหน่งสำคัญคือ ผู้ช่วยปลัดบัญชีทหารบก รองปลัดบัญชีทหารบกปลัดบัญชีทหารบก รองเสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกรองปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม และเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2528 เมื่อปี 2494 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้สมรสกับผู้คัดค้านที่ 2 มีบุตรธิดาด้วยกัน 4 คน ผู้คัดค้านที่ 3เป็นบุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองดูแลของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2522 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ หรือเรียกชื่อย่อว่าคณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้รับการร้องเรียนกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติจึงได้ทำการสืบสวนสอบสวน และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ป. ได้ประชุมครั้งที่ 40/2528 ลงวันที่ 19 กันยายน 2528 มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่าง ๆ ไว้แทน รวมมูลค่า 71,094,000.23บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามและผู้ร้องมีดังนี้
ประการแรก ผู้ร้องมีอำนาจร้องหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาอ้างเหตุว่าตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 ผู้ร้องจะร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินได้ต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วลงโทษทางวินัยไล่ผู้คัดค้านที่ 1 ออกจากราชการ เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีคำสั่งเรื่องนี้เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 1 เกษียณอายุราชการเสียก่อน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 เดิมบัญญัติว่า “เมื่อมีพฤติการณ์แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการพิจารณาสอบสวนและให้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของตนตามรายการ วิธีการและระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ความปรากฏว่าผู้นั้นร่ำรวยผิดปกติ และไม่สามารถแสดงได้ว่าร่ำรวยขึ้นในทางที่ชอบ ให้ถือว่าผู้นั้นใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบให้คณะกรรมการรายงานความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออก
มติของคณะกรรมการที่วินิจฉัยว่า ผู้นั้นร่ำรวยผิดปกติตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อยสองในสามของกรรมการทั้งหมด
บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกตินั้น ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้ทรัพย์สินนั้นมาในทางที่ชอบในกรณีนี้ ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ดังนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. มีมติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติแล้วขั้นตอนต่อไป คือ คณะกรรมการ ป.ป.ป.ต้องดำเนินการต่อไปอีกสองประการประการแรกคือ รายงานความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออกตามมาตรา 20 วรรคแรกประการที่สองคือ ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัย สั่งว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของแผ่นดินการดำเนินการทั้งสองประการนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือการที่ นายกรัฐมนตรีจะสั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ไม่เป็นการตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ป. ที่จะส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาอ้างเหตุประการหนึ่งว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ใช้บังคับเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้คัดค้านที่ 1 ได้เกษียณอายุราชการไปก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาล และผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องเห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นสำหรับกรณีเรื่องนี้ได้มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2522 ในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าผู้คัดค้านที่ 1 ร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ป. จึงได้ทำการสืบสวนสอบสวนเรื่อยมาและได้ส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาล เป็นการกระทำเกี่ยวพันสืบต่อกันมาโดยมุ่งหมายถึงทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาในระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 นั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินแทนผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาอ้างเหตุประการหนึ่งว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ไม่มีผลย้อนหลังไปบังคับทรัพย์สินหลายรายการของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ได้มาก่อนกฎหมายนี้ใช้บังคับ เห็นว่า พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับถึงทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาโดยมิชอบและยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นหรือบุคคลอื่นซึ่งถือกรรมสิทธิ์ไว้แทน ที่กฎหมายนี้บัญญัติให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาโดยไม่ชอบตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 20 นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอันเป็นวิธีการทางวินัยเท่านั้น มิใช่เป็นการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดทางอาญาอันจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของหลักกฎหมายที่ว่าบุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ ดังนั้นกฎหมายนี้ย้อนหลังไปบังคับถึงทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้มาโดยมิชอบและยังคงมีอยู่ในขณะที่กฎหมายนี้ใช้บังคับได้เพราะการได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบด้วยหน้าที่นั้นเป็นการผิดวินัยตั้งแต่ที่ได้รับมา ส่วนที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 21จัตวา บัญญัติมีใจความว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการและคณะกรรมการมีมติให้รับไว้พิจารณาตามมาตรา 20 แล้ว แม้ภายหลังผู้นั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปด้วยเหตุอื่น นอกจากตาย ก็ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการต่อไปได้ แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจคณะกรรมการสอบสวนโดยมีกำหนดระยะเวลามิใช่ว่ากฎหมายมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่ออกจากราชการไปแล้วดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาอ้างเหตุว่ากระทรวงกลาโหมไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 แสดงสินทรัพย์และหนี้สินตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2524 มาตรา 3(1) กระทรวงกลาโหมเพิ่งมีคำสั่งดังกล่าวหลังจากผู้คัดค้านที่ 1 เกษียณอายุราชการไปแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518เห็นว่า การตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นก็โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อป้องกันและปราบปรามในการประพฤติมิชอบในวงราชการ ดังนั้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518จึงใช้บังคับแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน ซึ่งคำว่า”เจ้าหน้าที่ของรัฐ” คือ บุคคลประเภทใดได้บัญญัติคำจำกัดความไว้ในมาตรา 3 แล้ว ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้แสดงสินทรัพย์และหนี้สินตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2524 ก็ต้องถูกบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการพ.ศ. 2518 ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ประการสุดท้าย ปัญหามีว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร่ำรวยผิดปกติและได้ทรัพย์สินมาโดยชอบหรือไม่เพียงใดในเบื้องต้นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินบัญชีที่ 1 ท้ายคำร้องลำดับที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์อยู่นั้นเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งบุคคลทั้งสองถือไว้แทนผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ผู้ร้องนำสืบได้ความว่า เดิมผู้คัดค้านที่ 2 รับราชการครู ต่อมาได้ลาออกจากราชการแล้วรับบำนาญตลอดมา มีรายได้ตามที่ปรากฏหลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพากรตั้งแต่ปี 2515 ถึงปี 2523 เป็นเงิน 190,638.96 บาท ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 2เคยรับราชการเป็นครูแล้วลาออกจากราชการและรับบำนาญตลอดมาในระหว่างที่รับราชการเป็นครูขณะที่ยังไม่สมรสกับผู้คัดค้านที่ 1เคยช่วยเหลือบิดามารดาค้าขาย ร่วมทุนกับเพื่อนทำการค้าข้าวและแร่ รับจำนำทองคำ บิดามารดาของผู้คัดค้านที่ 2 ทำการค้าฝิ่นโดยเปิดโรงยาฝิ่น เดินเรือทะเลชายฝั่ง เป็นเอเยนต์สุราจึงมีฐานะเป็นคหบดี นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 2 ยังได้รับเงินในวันครบรอบแต่งงานทุกปีและได้รับมรดกจากบิดามารดาหลายแสนบาท เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานโดยที่ไม่ได้นำผู้คัดค้านที่ 2 เข้าเบิกความต่อศาล นางยุพดี ณ ระนองพยานผู้คัดค้านทั้งสามเป็นญาติกับผู้คัดค้านที่ 2 เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เคยรับราชการเป็นครูและยังร่วมลงทุนค้าขายกับพยาน แต่ไม่ได้เบิกความถึงรายละเอียดว่าร่วมลงทุนค้าขายอะไร ทำกิจการอะไร มานานเท่าไหร่ ลงทุนคนละเท่าไหร่ มีอะไรเป็นหลักฐาน เช่น สัญญาเข้าหุ้นส่วนกัน ชื่อ ยี่ห้อที่ประกอบกิจการค้าด้วยกัน หลักฐานการเสียภาษีสรรพากรคำเบิกความของพยานปากนี้เบิกความลอย ๆซึ่งยี่ห้อการค้าของบิดาของผู้คัดค้านที่ 2 ก็ยังไม่ทราบจึงรับฟังไม่ได้ ส่วนพลเรือโททวี บุญเนืองและพลตรีมณีรัตน์ จารุจินดาพยานผู้คัดค้านทั้งสามเบิกความว่า เคยไปจังหวัดชุมพรและทราบว่าบิดาของผู้คัดค้านที่ 2 ร่ำรวย มีฐานะดีนั้น เบิกความลอย ๆ เช่นกันเพราะลำพังแต่ไปพักเพียงชั่วคราวจะทราบได้อย่างไรว่า บิดาของผู้คัดค้านที่ 2 มีฐานะทางการเงินดีจริงหรือไม่ นายไพจิตร สุนากรพยานผู้คัดค้านทั้งสามเบิกความว่า ที่บ้านของบิดามารดาผู้คัดค้านที่ 2 ขายของชำและขนม เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 สมรสแล้ว 2-3 ปี ได้ย้ายเข้ากรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับทรัพย์สินจากบิดามารดาประมาณ 10,000,000 บาท แต่พยานปากนี้ไม่ได้เบิกความในรายละเอียดว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินอะไรบ้าง เช่น เป็นที่ดินหรือของมีค่าอย่างอื่น เช่น ทองรูปพรรณหรือกิจการต่าง ๆ คำเบิกความของพยานปากนี้เบิกความลอย ๆ ทั้งพยานปากนี้เป็นลูกพี่ลูกน้องของผู้คัดค้านที่ 2 น่าจะเบิกความช่วยเหลือผู้คัดค้านทั้งสามจึงรับฟังไม่ได้ นอกจากนี้ที่พยานเบิกความว่า บิดาของผู้คัดค้านที่ 2 ได้ยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 2 ในปี 2510 แต่ทำสัญญาซื้อขายกันไว้ เห็นว่า หากบิดาของผู้คัดค้านที่ 2 ยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 2 จริง ก็น่าจะทำเป็นยกให้เพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์เพราะหากยากจนในภายหลังอาจถอนคืนการให้ได้ และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องทำนิติกรรมอำพรางเพราะได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรสาวที่ช่วยเหลือในการประกอบการค้าขาย ดังนั้น ที่อ้างว่าบิดาของผู้คัดค้านที่ 2 ยกทรัพย์สินให้จึงรับฟังไม่ได้ คงฟังได้ว่าบิดาของผู้คัดค้านที่ 2 ขายทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 2 แสดงว่ามีฐานะไม่ร่ำรวยอย่างที่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบ ไม่น่าเชื่อว่าบิดาของผู้คัดค้านที่ 2 จะยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 2 มีจำนวนถึง10,000,000 บาท ส่วนที่นางสาวพรสวรรค์ นิลวิเศษพยานผู้คัดค้านทั้งสามอ้างว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เล่นแชร์น้ำมันได้กำไร7,000,000 บาท นั้นก็เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานสนับสนุนรับฟังไม่ได้ หลังจากผู้คัดค้านที่ 2 ลาออกจากราชการแล้ว หากประกอบธุรกิจหรือค้าขายอะไรผู้คัดค้านที่ 2 ก็น่าจะมาเบิกความยืนยันพร้อมทั้งแสดงพยานหลักฐานต่อศาล ที่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบว่าผู้คัดค้านที่ 2 ประกอบธุรกิจร่ำรวยมีทรัพย์สินจำนวนมากจึงรับฟังไม่ได้ศาลฎีกาเห็นว่าพยานผู้ร้องนอกจากมีพยานบุคคลแล้วยังมีหลักฐานการเสียภาษีของผู้คัดค้านที่ 2 มาแสดง ย่อมรับฟังได้ตามที่ผู้ร้องนำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีรายได้ระหว่างปี 2515 ถึงปี 2523 ประมาณ190,638 บาท เท่านั้น เฉลี่ยแล้วมีรายได้เดือนละประมาณ2,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมนำไปใช้จ่ายส่วนตัวและในครอบครัวหมดสิ้นไปดังนั้น ที่ผู้คัดค้านที่ 2 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน บ้าน หุ้น และเงินในบัญชีเงินฝากในธนาคารต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าเป็นการถือแทนผู้คัดค้านที่ 1 เท่านั้น ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามนำสืบว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ถือหุ้นของบริษัทบ้านพักพรสวรรค์จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 1,000 บาทเพราะมีบุคคลต่าง ๆ ซื้อหุ้นให้โดยเสน่หา คือ นางยุพดีให้จำนวน5,500 หุ้น นายเชิญให้จำนวน 1,000 หุ้นแพทย์หญิงนันทพรให้500 หุ้น และนายสัมพันธ์ให้ 3,000 หุ้นนั้น เห็นว่า แม้บุคคลดังกล่าวจะมีฐานะร่ำรวย แต่ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะซื้อหุ้นจำนวนมากถึง 10,000,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เพราะถึงแม้ผู้คัดค้านที่ 3 จะเป็นผู้เยาว์และพิการ แต่ก็มีผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 บิดามารดาอุปการะอยู่แล้ว จึงไม่เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวจะยกหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ดังนั้น หุ้นที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ 3 ถือว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 เช่นกัน ศาลฎีกาเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีทรัพย์สินรวมมูลค่า 71,094,000.23 บาท แต่อย่างไรก็ตามทางนำสืบของผู้ร้องได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้ซึ่งต้องเสียภาษีตั้งแต่ปี 2515 ถึงปี 2523 เป็นเงิน 1,135,981 บาท ซึ่งหมายถึงเงินเดือนจากการรับราชการทหารโดยเฉพาะและเป็นเงินได้ที่เสียภาษีเท่านั้น แต่จากคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้จากเงินเดือนประจำและเงินตำแหน่งทางการเมือง คือ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติวุฒิสมาชิก รวม 3,300,000บาท เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม ในการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติและวุฒิสมาชิก 10,000 บาท ค่าเลี้ยงดู 180,000 บาท เป็นกรรมการวิทยุกองทัพบกได้รับเบี้ยประชุมและโบนัส 200,000 บาท กรรมการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับโบนัส 600,000 บาท เป็นกรรมการอื่นได้เบี้ยประชุม 50,000 บาท เป็นกรรมการองค์การแบตเตอรี่องค์การแก้ว ได้เบี้ยประชุมและโบนัสประมาณ 700,000 บาทเป็นสมาชิกสภากลาโหมได้รับเงินรับรองและเบี้ยประชุมเป็นเวลา4 ปี ประมาณ 1,500,000 บาท กวดวิชาให้นายทหารได้ค่าตอบแทน30,000 บาท เป็นครูสอนวิชารบร่วมอากาศกับพื้นดินที่เกาะโอกินาวาประเทศญี่ปุ่นได้ค่าตอบแทน 100,000 บาท เป็นครูร่วมกับจัสแม็กในการสอบวิชางบประมาณ และปลัดบัญชีกองทัพได้รับค่าตอบแทน200,000 บาท ค่าสอนในโรงเรียนทหารหลายแห่งได้รับค่าตอบแทนประมาณ 400,000 บาท ได้รับเงินรางวัลจากพลเอกกฤษณ์ สีวะรา50,000 บาท จากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์1,000,000 บาทจากพลเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์50,000 บาท เป็นนายทหารประจำตัวและติดตามนายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ได้รับรางวัล 300,000 บาททำงานพิเศษให้แก่พลเอกกฤษณ์ได้รับรางวัลประมาณ 4,000,000ถึง 5,000,000 บาท ประมาณปี 2513 ถึงปี 2515 เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ประสานงานไทยสหรัฐอเมริกาในการส่งทหารไปเวียดนามใต้ได้รับเงินมาเกือบ 2,000,000 บาท ได้รับทรัพย์สินจากบิดามารดา3,000,000 บาท นำเงินทั้งหมดไปหาประโยชน์ได้มาประมาณ7,000,000 บาท รวมแล้วมีรายได้ประมาณ 25,000,000 บาท ฝ่ายผู้ร้องนำสืบว่ารายได้ของผู้คัดค้านที่ 1 ตั้งแต่ปี 2515 ถึงปี 2523ที่เสียภาษีเป็นเงินเพียง 1,135,981 บาท เท่านั้นเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 รับราชการทหารตั้งแต่ปี 2490 ถึงปี 2528 โดยรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น ผู้ช่วยปลัดบัญชีทหารบก รองปลัดบัญชีทหารบกปลัดบัญชีทหารบก รองเสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกรองปลัดกระทรวงกลาโหม และปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งเป็นบุคคลที่มีความรู้จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนการเงินทหารบกสหรัฐอเมริกาและรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่าซึ่งนอกจากรับราชการแล้วยังเป็นคณะกรรมการทั้งหน่วยงานของรัฐบาลรัฐวิสาหกิจ และทำการสอนในสถาบันต่าง ๆ ตามที่ผู้คัดค้านที่ 1นำสืบจริง แต่รายได้บางรายการ เช่น เงินรางวัลจากพลเอกกฤษณ์50,000 บาท เงินรางวัลจากจอมพลสฤษดิ์1,000,000 บาท เงินรางวัลจากพลเอกประเสริฐจำนวน 50,000 บาทเงินจากการติดตามนายสุกิจ300,000 บาท เงินรางวัลจากการทำงานพิเศษให้แก่พลเอกกฤษณ์ประมาณ 4,000,000 ถึง 5,000,000 บาทไม่มีพยานสนับสนุนและไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับมอบหมายให้ทำงานอะไรให้แก่บุคคลดังกล่าวหากเป็นงานในหน้าที่ราชการแล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้เงินรางวัลอีกข้อนำสืบของผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อนี้จึงรับฟังไม่ได้ ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า ได้นำเงินดังกล่าวไปหาประโยชน์ได้มา 7,000,000 บาท เงินรายได้ที่ได้มาดังกล่าวก็ได้

Share