คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21854/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมทั้งสองเบิกความเป็นพยาน เมื่อหนังสือรับรองมีผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองลงลายมือชื่อและมีการรับรองต่อ ๆ กันมาตามลำดับ โดยมีตัวแทนของผู้มีอำนาจจะกระทำแทนโจทก์ร่วมทั้งสองยืนยันต่อหน้าโนตารีปับลิกว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองจะไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าโนตารีปับลิก แต่ก็มีตัวแทนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองลงลายมือชื่อยืนยันต่อหน้าโนตารีปับลิกว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองได้ลงลายมือหนังสือมอบอำนาจจริง จึงรับฟังได้ ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสาม ไม่ได้บังคับว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าโนตารีปับลิก เพียงแต่บัญญัติให้โนตารีปับลิกลงลายมือชื่อพยานก็เพียงพอ ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับการมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งกระทำในต่างประเทศดังกล่าวถือว่าได้ว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานโนตารีและของสถานทูตไทยรับรองหนังสือมอบอำนาจของโจทก์อีกชั้นหนึ่งว่า ลายมือชื่อและตราที่ประทับเป็นลายมือชื่อและตราที่ประทับของเจ้าหน้าที่โนตารีปับลิกและเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยจริงอีกชั้นหนึ่งด้วย จึงมีความน่าเชื่อถือ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่นำสืบหักล้างให้เห็นว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสอง และไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้มอบอำนาจให้ร้องทุกข์คดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจริง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมทั้งสองจึงมีอำนาจร้องทุกข์และโจทก์มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 30, 31, 61, 69, 70, 75, 76, 78 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 47, 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ให้ตู้เกมของกลาง 4 ตู้ ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้ผู้เสียหายและนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2521/2552 ของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสองแถลงว่าประสงค์จะต่อสู้คดีในประเด็นเรื่องหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายทั้งสองว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงประเด็นเดียว และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2521/2552 ของศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา
ระหว่างพิจารณา บริษัทเซก้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้เสียหายที่ 1 และบริษัทนามโก บันได เกมส์ อิงค์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
โจทก์ร่วมที่ 1 และบริษัทแกแล็คซี่ เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด ผู้แทนแต่ผู้เดียวในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศ ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 590,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การคดีในส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1),(2), 70 วรรคสอง พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง, 81 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ปรับคนละ 50,000 บาท ฐานร่วมกันนำวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า ในราชอาณาจักรปรับคนละ 20,000 บาท รวมปรับคนละ 70,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 35,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ให้ตู้เกมของกลาง 4 ตู้ ตกเป็นของโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายเงินกึ่งหนึ่งของค่าปรับที่จำเลยทั้งสองชำระให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และบริษัทแกแล็คซี่ เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการเดียวว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งสองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเอกสารที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศที่มีกงสุลสยาม ต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน ถ้าได้ทำในเมืองต่างประเทศที่ไม่มีกงสุลสยามต้องให้เจ้าพนักงานโนตารีปับลิกหรือแมยิสเตร็ด หรือบุคคลอื่นซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยาน และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม แต่โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การร้องทุกข์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีนายยุทธนา กรรมการบริษัทแกแล็คซี่ เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมทั้งสองเบิกความเป็นพยานว่า หนังสือมอบอำนาจมีขั้นตอนจัดทำโดยผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งสองได้ลงลายมือชื่อแล้วไปให้เจ้าหน้าที่โนตารี สำนักงานโนตารี กามาตะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ลงลายมือชื่อรับรอง จากนั้นจึงนำไปให้ผู้อำนวยการแห่งสำนักกฎหมายโตเกียวรับรองว่า บุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองของโนตารีมีอำนาจลงลายมือชื่อรับรอง หลังจากนั้นให้เจ้าหน้าที่กงสุลต่างประเทศลงลายมือชื่อรับรองตราประทับ และให้สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รับรองการเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอีกชั้นหนึ่ง เมื่อหนังสือรับรองมีผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองลงลายมือชื่อ และได้มีการรับรองต่อ ๆ กันมาตามลำดับ โดยมีตัวแทนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองยืนยันต่อหน้าโนตารีปับลิกว่าผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ร่วมทั้งสองได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจจริง แม้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าโนตารีปับลิกก็ตาม แต่ก็มีตัวแทนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองมาลงลายมือชื่อยืนยันต่อหน้าโนตารีปับลิกว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสองได้ลงลายมือชื่อหนังสือมอบอำนาจจริง จึงรับฟังได้ เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม ไม่ได้มีบทบัญญัติบังคับว่าผู้มีอำนาจกระทำการแทนจะต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าโนตารีปับลิก เพียงแต่บัญญัติให้โนตารีปับลิกลงลายมือชื่อเป็นพยานก็เพียงพอ ดังนั้นการดำเนินการเกี่ยวกับการมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งกระทำในต่างประเทศดังกล่าวถือว่าได้ว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว โดยนอกจากมีโนตารีปับลิก รับรองหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานโนตารีและของสถานทูตไทยรับรองหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งสองอีกชั้นหนึ่งว่าลายมือชื่อและตราที่ประทับในเอกสาร เป็นลายมือชื่อและตราที่ประทับของเจ้าหน้าที่โนตารีปับลิกและเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยจริงอีกชั้นหนึ่งด้วย จึงมีความน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่านายอากิระ นั้น เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้จัดการทั่วไปของกลุ่มงานขายบริษัท อมิวส์เมนท์แมชชีน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโจทก์ร่วมที่ 2 นั้น เมื่อพิเคราะห์หนังสือมอบอำนาจ แล้วเห็นว่า มีข้อความต่อท้ายข้อความว่ากลุ่มงานขายดังกล่าวเป็นของโจทก์ร่วมที่ 2 ด้วยหาใช่เป็นบริษัทแยกต่างหาก เชื่อว่านายอากิระ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 เมื่อจำเลยทั้งสองไม่นำสืบหักล้างให้เห็นว่าความจริงผู้ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมทั้งสอง และไม่ปรากฏว่ามีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้มอบอำนาจให้ร้องทุกข์คดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจริง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมทั้งสองจึงมีอำนาจร้องทุกข์และโจทก์มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมทั้งสองชอบด้วยกฎหมายนั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสองไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share