แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้วว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเองเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 283 ทวิ, 284, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การในส่วนคดีแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 317 วรรคสาม ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน รวมจำคุกจำเลย 5 ปี 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของเด็กหญิงวนิดาในชั้นพิจารณากับคำให้การชั้นสอบสวนของเด็กหญิงวนิดา และคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 ขัดแย้งกันหลายประการ ทั้งโจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความต่อศาลเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งเด็กหญิงวนิดาไม่รู้เห็นเหตุการณ์ภายในบ้านที่เกิดเหตุว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ได้จากเด็กหญิงวนิดาจึงมีพิรุธให้ต้องสงสัย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง สำหรับคดีในส่วนแพ่งที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น เห็นว่า เมื่อรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ที่ผู้ร้องทั้งสองขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว แม้ผู้ร้องทั้งสองจะไม่ได้อุทธรณ์และฎีกา แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเองเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6