คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2184-2195/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและจำเลยร่วมออกจากที่ดิน จำเลยและจำเลยร่วมต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ และจำเลยทุกสำนวนได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ คู่ความย่อมมีสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224, 248
ที่พิพาทแปลงใหญ่เป็นของวัดโจทก์ แม้ที่พิพาทบางแปลงจะมีโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยและจำเลยร่วมในโฉนด จำเลยและจำเลยร่วมก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ของวัดโจทก์ไม่ เพราะที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดหาได้ไม่ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 มาตรา 34

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาและพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องทั้งสิบสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า วัดเขาไกรลาศโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินหนึ่งแปลงคือที่พิพาทคดีนี้ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๙ จำเลยทั้งสิบสองสำนวนขออาศัยปลูกบ้านในที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๗ จำเลยทุกคนต่างได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินที่จำเลยขออาศัยดังกล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยแต่ละคน โจทก์ไปคัดค้าน ทางราชการจึงไม่ออกโฉนดให้จำเลยทั้งสิบสอง ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสิบสองและบริวารออกจากที่ดินโจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสิบสองสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์มีเพียงสิทธิอาศัยอยู่บนที่ดินเนินเขาอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่มีสิทธิใด ๆในการออกเอกสารสิทธิครอบครองหรือโฉนดอย่างใด จำเลยทั้งสิบสองอาศัยอยู่ในที่พิพาทอันเป็นที่สาธารณะเป็นเวลาหลายปีแล้ว ทางราชการอนุญาตให้ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่พิพาทและออกเลขทะเบียนบ้านให้โดยชอบ ต่อมาพวกจำเลยขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตน ทางราชการนำโฉนดมาแจกให้จำเลยกับพวกแล้วแต่ผู้แทนโจทก์มาคัดค้าน ทางราชการจึงไม่แจกโฉนดให้ ความจริงแล้วที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นที่ดินมีโฉนดหาใช่ที่ดินของโจทก์ไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย โจทก์ชอบที่จะฟ้องทางราชการเพิกถอนการออกโฉนด หากที่ดินเป็นของโจทก์จริง โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน ผู้ร้องทั้งสิบหกคนร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย จำเลยร่วมและบริวารออกจากที่พิพาทและให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสิบสองและจำเลยร่วมทั้งสิบหกร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว ให้รับฎีกาเฉพาะจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๙ และที่ ๑๑ที่ ๑๒ จำเลยร่วมที่ ๑ และที่ ๓ ถึงที่ ๑๖
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่าคดีทุกสำนวนเป็นคดีมีทุนทรัพย์อย่างสูงไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท และเรียกร้องค่าเสียหายไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาทต่อเดือน คดีต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยคดีนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและจำเลยร่วมออกจากที่ดิน จำเลยและจำเลยร่วมต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตน จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์และจำเลยทุกสำนวนได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์คู่ความย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔, ๒๔๘ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘มาตรา ๓, ๖
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่งว่าจำเลยและจำเลยร่วมบางคนได้รับโฉนดที่ดินในที่พิพาทไปแล้ว ต้องถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่ดินของผู้มีกรรมสิทธิ์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นที่วัดเขาไกรลาศ ฉะนั้น แม้ที่พิพาทบางแปลงจะมีโฉนดที่ดินเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ จำเลยและจำเลยร่วมก็หาได้กรรมสิทธิ์ในที่ของวัดโจทก์ไม่ เพราะที่วัดจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดก็ไม่ได้ด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕มาตรา ๓๔
พิพากษายืน

Share