คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องไม่ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนตามกำหนดนัดเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านการยืนยันหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล ตามมาตรา 119 วรรคสาม ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าผู้ร้องเป็นหนี้กองทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) หรือไม่ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยกขึ้นเป็นข้ออ้างข้อต่อสู้ในชั้นศาล และนำพยานหลักฐานเข้าสืบได้ ไม่ถือว่าการนำสืบพยานหลักฐานเป็นอันยุติไปตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการสอบสวนแต่อย่างใด
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อระหว่างผู้ร้องกับ น. และ ธ. ยังมิได้จดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเหตุผลใด ๆ มาเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติของ มาตรา 1129 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นไปจากความรับผิดในค่าหุ้นที่ค้างได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) แล้ว พระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 22 (2) ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) หรือซึ่งบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ฉะนั้น เมื่อผู้ร้องต้องห้ามมิให้ยกการโอนหุ้นขึ้นยันบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องก็ย่อมไม่อาจยกการโอนหุ้นขึ้นยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ปรากฏว่าผู้ร้องยังค้างค่าหุ้นบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นดังกล่าวผู้ร้องปฏิเสธหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้อยู่จริงจึงแจ้งยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้อง ให้ผู้ร้องชำระหนี้ ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า ไม่ได้เป็นหนี้เพราะได้โอนหุ้นให้นายเนตรและนายธวัชชัยไปแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าหุ้นอีกขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า ผู้ร้องยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างแก่บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) และไม่ได้มีการจดแจ้งการโอนหุ้นไว้ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้(จำเลย) ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าหุ้นที่ค้าง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องชำระเงินจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ร้องปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๙ วรรคสอง เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะทำการสอบสวนและทำความเห็นเรื่องการปฏิเสธหนี้นั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ออกหมายนัดผู้ร้องให้ไปเพื่อสอบสวน แม้หมายนัดจะมีข้อกำหนดว่า ถ้าไม่ไปให้การสอบสวนตามนัดจะถือว่าไม่ติดใจให้สอบสวน เมื่อถึงกำหนดนัด ผู้ร้องไม่ไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งงดการสอบสวนทำความเห็นและยืนยันหนี้ไปซึ่งเป็นดุลพินิจและความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาล ตามมาตรา ๑๑๙ วรรคสาม ให้ศาลพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นหนี้หรือไม่ได้เป็นหนี้กองทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้ออ้างข้อต่อสู้ในชั้นศาลและนำพยานหลักฐานเข้าสืบได้ ไม่ถือว่าการนำสืบพยานหลักฐานเป็นอันยุติไปตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการสอบสวนแต่อย่างใด
กรณีผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม เมื่อผู้ร้องโอนหุ้นให้แก่นายเนตรและนายธวัชชัยโดยไม่ได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักงานผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเหตุผลใด ๆ มาเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นไปจากความรับผิดได้และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย)แล้ว พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ (๒) ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) หรือซึ่งบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องต้องห้ามมิให้ยกการโอนหุ้นขึ้นยันบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ดังกล่าวแล้วผู้ร้องก็ย่อมไม่อาจยกการโอนหุ้นขึ้นยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน
พิพากษายืน

Share