แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยต่างเป็นบุตรของ ย. แต่ต่างมารดากันมารดาโจทก์และมารดาจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากับ ย.มาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใครจะเป็นภริยาหลวงหรือภริยาน้อยก็ตาม ก็อยู่ในฐานะเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ย. ด้วยกันทั้งคู่ การที่สามีจะยกสินสมรสซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้แก่ผู้ใดโดยเสน่หานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1473 สามีต้องได้รับความยินยอมของภริยาเสียก่อนเว้นแต่จะเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีงามหรือในทางสังคม และตามมาตรา 1476การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมจากกัน ถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ ในระหว่างสมรส ย.ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่พิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยโดยเสน่หา การให้ในกรณีนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีงามหรือในทางสมาคม เมื่อไม่ปรากฏว่าภริยาของ ย.ได้ให้ความยินยอมเป็นหนังสือ การให้ดังกล่าวแล้วจึงไม่สมบูรณ์หลังจากบิดาและมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของมารดาซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ย. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์พิพาทย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หานี้ได้
โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่า ย. ได้ทำนิติกรรมยกที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมของมารดาโจทก์ซึ่งเป็นภริยาของ ย.จำเลยให้การต่อสู้ว่า ย. ได้ยกที่พิพาทให้ด้วยความรู้เห็นยินยอมของมารดาจำเลยซึ่งเป็นภริยาอีกคนหนึ่งของ ย. แล้ว ดังนี้ปัญหาเรื่องความยินยอมจึงเป็นประเด็นแห่งคดีมาตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อมีกฎหมายบัญญัติว่าความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาคดีให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายได้
โจทก์เป็นบุตรและทายาทของ ย. การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมให้โดยเสน่หา ย่อมเป็นการฟ้องเรียกร้องให้ได้ทรัพย์พิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายยกเตี้ยง แซ่แป๊ะ มารดาชื่อนางอ๋องวุ่นหรืออ๋องหงุ่น แซ่อ๋อง บิดามารดาโจทก์สมรสกันตามกฎหมาย ปัจจุบันบุคคลทั้งสองถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อประมาณ ๔๐ ปีมานี้บิดาโจทก์ได้ซื้อที่ดิน ๔ โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สินเหล่านี้จึงเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ จำเลยทั้งสองเป็นบุตรของบิดาโจทก์ซึ่งเกิดจากนางสอสิ้วเมี้ยภริยาน้อย เมื่อบิดาโจทก์ตาย จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โจทก์และมารดาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอแบ่งสินสมรสและมรดก ความจึงปรากฏว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวบิดาโจทก์ทำนิติกรรมยกให้จำเลยทั้งสองโดยมารดาโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมโดยจำเลยทั้งสองได้ให้พวกจำเลยแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตว่าเป็นบิดาโจทก์ ขอทำนิติกรรมโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยทั้งสองโดยเสน่หาเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงจดทะเบียนสิทธิให้ ต่อมามารดาโจทก์ตายโจทก์ถือว่าการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมยกให้ดังกล่าวตกเป็นโมฆะขอให้พิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธินิติกรรม และการทำหนังสือสัญญาให้ดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การว่า มารดาโจทก์เป็นภรรยาน้อยของนายยกเตี้ยงแซ่แป๊ะ นางสอสิ้วเมี้ย แซ่สอ มารดาจำเลยทั้งสองเป็นภรรยาหลวงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสระหว่างนายยกเตี้ยงกับมารดาจำเลยต่อมานายยกเตี้ยงได้ทำนิติกรรมยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยทั้งสองโดยได้รับความยินยอมของมารดาจำเลยแล้วจำเลยไม่ได้นำบุคคลอื่นปลอมตัวเป็นนายยกเตี้ยงแสดงต่อเจ้าพนักงานดังฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายยกเตี้ยง แซ่แป๊ะยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยทั้งสองเสีย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นบุตรของนายยกเตี้ยงแซ่แป๊ะ โดยโจทก์เป็นบุตรซึ่งเกิดกับนางอ๋องวุ่นและจำเลยทั้งสองเป็นบุตรซึ่งเกิดกับนางสอสิ้วเมี้ย นางอ๋องวุ่นกับนางสอสิ้วเมี้ยต่างเป็นภรรยาของนายยกเตี้ยงมาก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ จะใช้บังคับระหว่างอยู่กินกับภรรยาทั้งสองคนนี้ นายยกเตี้ยงได้ซื้อที่พิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง และต่อมาได้มีการจดทะเบียนยกที่พิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ใครจะเป็นภรรยาหลวงหรือภรรยาน้อยก็ตาม เมื่อปรากฏว่าทั้งมารดาโจทก์และมารดาจำเลยทั้งสองต่างก็ได้อยู่กินเป็นสามีภรรยากับนายยกเตี้ยงมาตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ แล้วหญิงสองคนนี้จึงอยู่ในฐานะที่เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายยกเตี้ยงบิดาโจทก์จำเลยด้วยกันทั้งคู่ และทรัพย์พิพาทก็เป็นสินสมรสระหว่างนายยกเตี้ยงกับมารดาโจทก์และมารดาจำเลย การที่สามีจะยกสินสมรสซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้แก่ผู้ใดโดยเสน่หานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๓สามีต้องได้รับความยินยอมของภริยาเสียก่อน เว้นแต่จะเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีงามหรือในทางสมาคม ฉะนั้นการที่นายยกเตี้ยงทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่พิพาททั้งสี่โฉนดพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยทั้งสองนี้ ไม่ว่าจะทำโดยให้บุคคลอื่นแสดงตัวเป็นนายยกเตี้ยง หรือนายยกเตี้ยงเป็นผู้ทำด้วยตนเอง ก็ต้องได้รับความยินยอมจากภรรยาเสียก่อน เพราะการให้ในกรณีนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีงามหรือในทางสมาคม และมาตรา ๑๔๗๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่าการใดที่สามีหรือภรรยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมจากกันและถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ ฉะนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าภรรยานายยกเตี้ยงได้ให้ความยินยอมโดยทำเป็นหนังสือ การให้ที่ดินสี่โฉนดพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างรายนี้จึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายอ๋องวุ่นมารดาซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งของนายยกเตี้ยง เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์พิพาท มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หานี้ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า ปัญหาเรื่องความยินยอมเป็นหนังสือหรือไม่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกขึ้นพิพากษาไม่ได้นั้น เห็นว่า โจทก์ได้กล่าวอ้างในฟ้องว่านายยกเตี้ยงได้ทำนิติกรรมยกที่ดิน ๔ โฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองโดยมิได้รับความยินยอมของมารดาโจทก์ซึ่งเป็นภรรยานายยกเตี้ยงจำเลยให้การต่อสู้ว่านายยกเตี้ยงได้ยกที่ดินพิพาทให้ด้วยความรู้เห็นยินยอมของมารดาจำเลยซึ่งเป็นภรรยาอีกคนหนึ่งของนายยกเตี้ยงแล้วดังนี้ปัญหาเรื่องความยินยอมจึงเป็นประเด็นแห่งคดีมาตั้งแต่เริ่มแรก และเมื่อมีกฎหมายบัญญัติว่าความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิพากษาคดีให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายได้
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เพราะคำขอของโจทก์มิได้เรียกร้องเอาที่พิพาทมาเป็นของโจทก์ เป็นแต่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หา เพื่อให้ได้ทรัพย์พิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของนายยกเตี้ยงตามเดิมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์คดีนี้เป็นบุตรและทายาทของนายยกเตี้ยง การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้โดยเสน่หาย่อมเป็นการฟ้องเรียกร้องให้ได้ทรัพย์พิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์
พิพากษายืน