แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรอยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 2 ที่ 3 บิดามารดาผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่จะขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 แม้จะมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามสมควรแก่หน้าที่ก็ตาม เพราะการใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ตามควรแก่หน้าที่นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 จะต้องพิสูจน์ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 648/2519)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นบุตรอยู่ในความปกครองของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ผู้เป็นบิดามารดาผู้แทนโดยชอบธรรม จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ในกิจการหรือได้รับมอบหมายให้กระทำการในกิจการอันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไปตามถนนสุรวงศ์ด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ขับชนโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสการกระทำของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน ๓๘๘,๒๙๓ บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในจำนวนเงินดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถประมาท จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่เคยยินยอมหรืออนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ขับรถ จำเลยที่ ๒ มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ อย่างไรก็ตามจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ ๑ อย่างดีตามหน้าที่ จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน ๑๘๕,๗๙๓ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย และให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เป็นบุตรอยู่ในความปกครองของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้เป็นบิดามารดาผู้แทนโดยชอบธรรมจำเลยทั้งสามให้การว่าจำเลยที่ ๒ มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ อย่างไรก็ตามจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก็ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ ๑ เป็นอย่างดีตามหน้าที่แล้วแสดงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามได้กล่าวอ้างและโต้แย้งกันในประเด็นว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ดูแลบุตรในความปกครองเป็นอย่างดีตามหน้าที่หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ ๒ ว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ หรือไม่เป็นการกำหนดประเด็นรวมในเรื่องความรับผิดในฐานะบิดามารดาซึ่งมีหน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ และในเรื่องความรับผิดในฐานะนายจ้างหรือในฐานะตัวการตัวแทนด้วย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๓ ในฐานะมารดาจะต้องใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ ๑ ไม่ให้ก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่นเป็นการพิพากษาในประเด็นแห่งคดี และข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ ๑ ตามควรแก่หน้าที่ นั้น ปรากฏว่าคำฟ้องของโจทก์นอกจากจะบรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่อ้างว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และขณะทำละเมิดจำเลยที่ ๑ ขับรถในกิจการหรือได้รับมอบหมายให้กระทำการในกิจการอันมีผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้วโจทก์ยังบรรยายด้วยว่า “จำเลยที่ ๑ เป็นบุตรอยู่ในความปกครองของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓บิดามารดาผู้แทนโดยชอบธรรม” ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ผู้ทำละเมิด นั้นนอกจากโจทก์จะอาศัยเหตุที่ว่า จำเลยที่ ๑ ทำละเมิดในกิจการหรือได้รับมอบหมายให้ทำการในกิจการอันเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แล้ว โจทก์ยังขอให้จำเลยที่ ๒และที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ด้วย และคำฟ้องของโจทก์ก็ถือได้ว่า ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาที่จะขอให้จำเลยที่ ๒และที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๙ แม้จะมิได้บรรยายว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ ๑ ตามสมควรแก่หน้าที่ก็ตามเพราะการใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ ๑ ตามควรแก่หน้าที่นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะต้องพิสูจน์ เทียบได้ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๘/๒๕๑๙ ระหว่างนางอุดมรัตน์ ชาตบุตรในฐานะส่วนตัวและผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงธันศญา ชาตบุตร กับพวก โจทก์ นายอุดม จงกมานนท์ กับพวก จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น