แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คณะกรรมการสภาทนายความมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อผู้ถูกกล่าวหาออกจากทะเบียนทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 43 แล้วย่อมมีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44(4) ทันทีแม้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความได้แต่การอุทธรณ์ไม่ถือว่าเป็นการทุเลาคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความ ดังนั้นเมื่อผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าคณะกรรมการสภาทนายความมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดกระทำหน้าที่เป็นทนายความในระหว่างที่รอฟังคำวินิจฉัยของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ เพราะในระหว่างนั้นผู้ถูกกล่าวหาต้องห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความตามมาตรา 33
ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความตั้งแต่วันที่ 10เมษายน 2540 แต่ว่าความให้แก่จำเลยเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 22 เมษายน 2542จึงขอถอนตัวจากการเป็นทนายความ การกระทำผู้ถูกกล่าวหาย่อมเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
การปฏิบัติหน้าที่ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในแต่ละครั้งถือเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมมิใช่กรรมเดียว ทั้งผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหลายคดี จึงนับโทษติดต่อกันได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากพนักงานอัยการจังหวัดหนองคายเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวเสาวรสบุตรรส กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 335(7)(11), 352 ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1583/2540ของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีหนังสือขอแรงทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตั้งผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความให้เมื่อวันที่ 15กรกฎาคม 2540 และวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ตามลำดับ ต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร้องเรียนต่อผู้พิพากษาในคดีของศาลชั้นต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาเรียกเงินค่าใช้จ่ายในการว่าความ ศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงสภาทนายความให้ดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาฐานประพฤติผิดมรรยาททนายความ สภาทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤษภาคม2542 ถึงศาลชั้นต้นแจ้งว่าปัจจุบันผู้ถูกกล่าวหามิได้เป็นทนายความเนื่องจากขาดต่อใบอนุญาต ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อคณะกรรมการสภาทนายความมีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหาขาดคุณสมบัติในการที่จะขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความแล้ว จึงให้จำหน่ายชื่อผู้ถูกกล่าวหาออกจากทะเบียนทนายความและผู้ถูกกล่าวหาทราบคำสั่งแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาย่อมว่าความในศาลไม่ได้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความโดยเข้าใจว่าตามพระราชบัญญัติทนายความฯ ผู้ถูกกล่าวหาว่าความได้ในระหว่างพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งก็ตาม ก็หาทำให้คำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความไม่มีผลบังคับเพราะการอุทธรณ์คำสั่งนั้นไม่ และความเข้าใจของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เกิดจากความสุจริตเมื่อผู้ถูกกล่าวหาว่าความในศาลโดยไม่มีอำนาจ โดยเป็นการว่าความ 26 ครั้ง แต่งคำให้การ 1 ครั้ง และมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะมายื่นคำร้อง 2 ครั้ง รวม 29 ครั้งกรณีถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบมาตรา 33 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 พิพากษาให้ลงโทษทุกกรรมรวม 29 กระทง จำคุกกระทงละ 1 วัน รวม 29 วัน ให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกของผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1242/2538 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1551/2541 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1260/2541 ของศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1583/2540 ของศาลชั้นต้น แต่งตั้งให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความตามลำดับผู้ถูกกล่าวหาว่าความตลอดมาจนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2542 ผู้ถูกกล่าวหาจึงขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าถูกลงโทษในคดีมรรยาททนายความโดยถูกห้ามทำการเป็นทนายความรวม 4 คดี คดีที่หนึ่งมีกำหนด1 ปี คดีที่สองมีกำหนด 2 ปี คดีที่สามมีกำหนด 3 ปี และคดีที่สี่มีกำหนด 2 ปี นับแต่เดือนมีนาคม 2535 เมื่อครบกำหนด 3 ปี นับแต่เดือนมีนาคม 2535 เมื่อวันที่ 2พฤษภาคม 2539 ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความคณะกรรมการสภาทนายความอนุมัติตามคำขอ ต่อมาสภาทนายความตรวจสอบพบว่าคดีมรรยาททนายความของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวต้องนับโทษต่อกัน ซึ่งกำหนดห้ามทำการเป็นทนายความจะครบในวันที่ 23 มกราคม 2543 สภาทนายความอนุมัติตามคำขอของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวโดยผิดหลงและคลาดเคลื่อน คณะกรรมการสภาทนายความจึงมีคำสั่งในการประชุมครั้งที่ 12/2539 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2539 ว่าผู้ถูกกล่าวหาขาดคุณสมบัติในการขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตามมาตรา 35(4) ให้จำหน่ายชื่อผู้ถูกกล่าวหาออกจากทะเบียนทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 43 นายเกษม คำจันทร์ ประธานอนุกรรมการ สภาทนายความประจำจังหวัดอุดรธานีนำคำสั่งดังกล่าวมาให้ผู้ถูกกล่าวหาลงลายมือชื่อรับไว้เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2540 เมื่ออ่านคำสั่งดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความเมื่อวันที่ 19 เมษายน2540 ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2540 สภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความมีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งคณะกรรมการสภาทนายความ
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาข้อแรกว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคณะกรรมการสภาทนายความมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อผู้ถูกกล่าวหาออกจากทะเบียนทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 มาตรา 43 แล้ว คำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาขาดจากการเป็นทนายความตามมาตรา 44(4) ทันที แม้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความเพื่อให้วินิจฉัยอีกชั้นหนึ่งได้ แต่การอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการทุเลาคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความที่ให้จำหน่ายชื่อผู้ถูกกล่าวหาออกจากทะเบียนทนายความ ดังนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าคณะกรรมการสภาทนายความมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนทนายความแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดกระทำหน้าที่เป็นทนายความในระหว่างที่รอฟังคำวินิจฉัยของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ เพราะในระหว่างนั้นผู้ถูกกล่าวหาต้องห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่ทนายความตามมาตรา 33 ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2540 แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังปฏิบัติหน้าที่ทนายความว่าความให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2540และวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ตามลำดับเป็นต้นมา จนกระทั่งวันที่ 22 เมษายน 2542จึงขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4ฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงชอบแล้ว ฎีกาผู้ถูกกล่าวหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาข้อต่อมาว่า การกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรรมเดียวและการที่ศาลให้นับโทษต่อจากคดีอื่นไม่ถูกต้อง เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในแต่ละครั้งถือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมมิใช่กรรมเดียว ส่วนที่ให้นับโทษต่อจากคดีอื่นเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจำนวนหลายคดี การที่ศาลให้นับโทษติดต่อกันจึงชอบแล้ว ฎีกาผู้ถูกกล่าวหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน