คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2174/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ได้ให้คู่ความฟังในวันที่ 17 มิถุนายน 2514 แล้วได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ไปในวันนั้นเอง ดังนี้ ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะสั่งศาลชั้นต้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สุดให้ใหม่

ย่อยาว

กรณีเรื่องนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยฐานรับของโจรไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 78 แล้วจำเลยอุทธรณ์ขอลดหย่อนผ่อนโทษศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาส่งมาให้ศาลชั้นต้นอ่าน ก่อนอ่านจำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์เมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2514 เพื่อประโยชน์ในการที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 ศาลชั้นต้นจึงงดการอ่าน ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์เพื่อสั่งคำร้องขอถอนอุทธรณ์ต่อไป

วันที่ 4 มิถุนายน 2514 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ได้ส่งมาให้ศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งนี้ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2514 แล้วออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไปยังผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อจัดการให้เป็นไปตามหมายนั้นต่อไปในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2514 จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เพราะทางการเรือนจำถือว่าคดีของจำเลยเด็ดขาดลงภายหลังจากวันที่ 9 มิถุนายน 2514อันเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 มีผลบังคับใช้ ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายไปยังเรือนจำใหม่ เพื่อให้จำเลยได้รับประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง คดีของจำเลยถึงที่สุดในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง (วันที่ 17 มิถุนายน 2514)ไม่มีเหตุจะแก้ไขหมาย ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งนี้

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ย่อมมีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2514 ที่ศาลชั้นต้นอ่านโดยเปิดเผยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 พิพากษายืน

จำเลยฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า “นักโทษเด็ดขาด” ซึ่งสมควรจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 นั้น ท่านบัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้นว่า ให้หมายความถึงนักโทษเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ซึ่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า

“มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีข้อความแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

(1)…….

(2)…….

(3) นักโทษเด็ดขาด หมายความว่าบุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกภายหลังคำพิพากษาถึงที่สุด

ฯลฯ

ดังนี้ จะเห็นได้ว่านักโทษเด็ดขาดที่สมควรจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 นั้น หมายความถึงนักโทษที่ศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดไว้ก่อนและในวันที่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2514 มีผลใช้บังคับเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับนักโทษที่ยังไม่มีหมายจำคุก เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดแต่อย่างใดเลย

สำหรับเรื่องหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในคดีอาญานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า และโดยปกติศาลย่อมจะออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในโอกาสแรกที่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าคดีเรื่องนั้นได้ถึงที่สุดยุติแล้ว สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นก็ได้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในวันที่ 17 มิถุนายน 2514 ที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ของจำเลยได้เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจสั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดตามความประสงค์ของจำเลยได้

พิพากษายืน

Share