คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2173/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำพิพากษาศาลแรงงานในสำนวนมีผู้พิพากษาศาลแรงงาน ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละหนึ่งคนลงลายมือชื่อไว้ครบเป็นองค์คณะพิพากษาคดีตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 17 แล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้พิพากษาสมทบ ฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างไม่ได้ ลงลายมือชื่อด้วย เป็นอุทธรณ์บิดเบือนข้อความในคำพิพากษา เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การนั่งพิจารณาคดีแรงงาน ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษาผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นองค์คณะพิจารณา หากศาลแรงงาน มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดี โดยผู้พิพากษาสมทบ ฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นองค์คณะ ไม่ได้นั่งร่วมในการพิจารณาคดี แต่มีผู้พิพากษาสมทบ ฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างคนอื่นมานั่งพิจารณา คดีแทน ย่อมเป็นการผิดระเบียบคู่ความฝ่ายที่เสียหาย จะต้องยื่นคัดค้านเสียก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 จำเลยทราบตั้งแต่ในวันนัดพิจารณาแล้วว่ามีการผิดระเบียบ จำเลยก็ชอบที่จะคัดค้านเสียภายใน 8 วัน เมื่อจำเลย มิได้คัดค้านจนกระทั่งล่วงพ้นระยะเวลาดังกล่าวจนกระทั่ง ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยจะมาอุทธรณ์โต้แย้งว่า การพิจารณาคดีในวันดังกล่าวไม่ชอบหาได้ไม่ และกรณีถือได้ว่าการพิจารณาคดีของศาลแรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 45,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 113,400 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,500 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 14,490 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,500 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,780 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 45,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 113,400 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,500 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 14,490 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,500 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 3,780 บาท
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางมีผู้พิพากษาลงลายมือชื่อเพียงคนเดียว ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างไม่ได้ลงลายมือชื่อด้วย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าตามคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 แผ่นที่ 9 ในสำนวนปรากฏว่าผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละหนึ่งคนได้ลงลายมือชื่อไว้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงมีผู้พิพากษาครบเป็นองค์คณะพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 17 แล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็นอุทธรณ์บิดเบือนข้อความดังกล่าว เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2541วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 และวันที่ 17 กันยายน 2541 นายเศกสม บัณฑิตกุลและ นายประชัน ทาตะชัย ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นองค์คณะคดีนี้ไม่ได้นั่งร่วมในการพิจารณาคดีด้วย แต่มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาฝ่ายลูกจ้างคนอื่นมานั่งพิจารณาคดีแทน การพิจารณาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การนั่งพิจารณาคดีแรงงาน ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นองค์คณะพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 17และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ดังนั้นถ้าจำเลยเห็นว่าศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดีโดยผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นองค์คณะไม่ได้นั่งร่วมในการพิจารณาคดี แต่มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างคนอื่นมานั่งพิจารณาคดีแทนอันเป็นการผิดระเบียบ จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจะต้องยื่นคัดค้านก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้ทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ปรากฏตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า วันที่ 20 พฤษภาคม 2541 วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 และวันที่ 17 กันยายน 2541 ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นองค์คณะมิได้นั่งพิจารณาคดี จำเลยย่อมทราบแล้วในวันดังกล่าวว่าเป็นการผิดระเบียบจำเลยก็ควรจะคัดค้านเสียภายใน 8 วัน เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านจนกระทั่งศาลแรงงานกลางพิพากษาในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 ไปแล้ว จำเลยจะมาอุทธรณ์โต้แย้งว่าการพิจารณาคดี ในวันดังกล่าวไม่ชอบหาได้ไม่ กรณีถือได้ว่าการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน

Share