คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2172/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และ ส. มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนการโอนที่ดินดังกล่าว เป็นเพียงจดทะเบียนใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 และ ส.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้นหาใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น อันจะทำให้ผู้ร้องมีสิทธิขอให้เพิกถอนตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2525 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ตามทางสอบสวนของผู้ร้องปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่573 และ 593 วันที่ 30 มีนาคม 2525 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณี พลจันทร์โดยให้บุคคลทั้งสองมีกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 2 ส่วน โดยไม่มีค่าตอบแทนการจดทะเบียนให้อยู่ในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย นางสุวรรณี ถึงแก่กรรมไปก่อนยื่นคำร้องมีผู้คัดค้านที่ 2 เป็นทายาท ขอให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว
ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 2 ส่วนของที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1และนางสุวรรณี
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่ามีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีถือกรรมสิทธิ์ร่วม 1 ใน 2 ส่วน ในที่ดินทั้งสองแปลงหรือไม่เห็นว่าเหตุที่มีการเปลี่ยนผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในปี 2525ได้ความตามคำเบิกความของผู้คัคค้านที่ 1 ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์2525 จำเลยที่ 1 ขอซื้อที่ดินทั้งสองแปลงจากผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีแปลงละ 1 ใน 2 ส่วน ผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีตกลงขายให้โดยลงชื่อในใบมอบอำนาจที่ยังมิได้กรอกข้อความให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนการโอนแทนจำเลยที่ 1 กลับไปจดทะเบียนการโอนที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวผู้คัดค้านที่ 1 รู้ได้ไปทักท้วง จำเลยที่ 1 จึงใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินทั้งสองแปลงเป็นจำนวนเนื้อที่ 1 ใน 2 ส่วน จำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1เป็นพี่น้องกัน ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดิน การจำนอง ตลอดทั้งการให้เช่าที่ดินทั้งสองแปลงปรากฏว่าส่วนใหญ่ผู้คัดค้านที่ 1มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการแทนตามเอกสารหมายค.1 ค.4 ค.5 และ ค.16 แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีไว้วางใจจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวเมื่อวันที่ 17 และ 22 กุมภาพันธ์ 2525 และโอนกลับมาเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณี 1 ใน 2 ส่วน วันที่ 30 มีนาคม2525 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระยะเวลากระชั้นชิดกัน และโอนกลับมาเพียง 1 ใน 2 ส่วนเท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ต้องการจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีเพื่อมิให้ผู้ร้องติดตามยึดมารวมในกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1น่าจะโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีหมดทั้งแปลง ผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนี้ จึงฟังว่าที่ดินทั้งสองแปลงเนื้อที่ 1 ใน 2 ส่วน เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณี เมื่อที่ดินทั้งสองแปลงเนื้อที่1 ใน 2 ส่วนนี้ มิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1จดทะเบียนการโอนที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2525เป็นเพียงจดทะเบียนใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 และนางสุวรรณีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้นหาใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น อันจะทำให้ผู้ร้องมีสิทธิขอให้เพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114 ไม่
พิพากษายืน

Share