แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินบริษัท บ. โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน คู่สัญญารู้อยู่ว่ามิได้มีการกู้และค้ำประกันตามนั้น ความจริงจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามสัญญาอันแสดงเจตนาลวงนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 สัญญากู้อันถูกอำพรางไว้นั้น จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพราะจำเลยที่ 2 ทำไปในฐานะเป็นทายาทของกองมรดก ส.ซึ่งมีอำนาจจัดการกู้เงินเพื่อประโยชน์ของกองมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1745 ประกอบด้วยมาตรา 1358
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ความจริงจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส.ได้ตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนไปขอกู้เงินจากบริษัท บ.ซึ่งที่ประชุมของบริษัททราบดีว่ากองมรดกของ ส. เป็นผู้กู้แต่ให้ลงชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเป็นนิติกรรมอำพรางจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ดังนี้ การที่จำเลยนำสืบว่าความจริงจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ มิใช่เป็นผู้ค้ำประกัน ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะกรณีเป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง ซึ่งมาตรา 94 ไม่ตัดสิทธิจำเลยในอันที่จะนำสืบแสดงว่าสัญญาที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง มาตรา 94 ก็ห้ามแต่เฉพาะเรื่องการนำพยานบุคคลเข้ามาสืบแทนเอกสารเท่านั้นไม่ได้ห้ามในการนำสืบหักล้างพยานเอกสารด้วยเอกสารโดยมีการสืบพยานบุคคลประกอบข้อความและลายมือชื่อในเอกสารนั้น
จำเลยเพียงแต่กล่าวมาในคำแก้ฎีกาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับนั้น ไม่มีเหตุอันสมควรชอบที่โจทก์จะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยนั้น จำเลยย่อมไม่มีสิทธิจะร้องขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และจำเลยจะฎีกาในเรื่องดุลพินิจเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมโดยเฉพาะไม่ได้ แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรก็อาจสั่งให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยได้ในฐานะที่จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นที่สุด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งตามมาตรา ๑๗แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ให้บริษัทบางกอกกระสอบ จำกัดพ้นสภาพจากบริษัทให้กิจการทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทตกเป็นของรัฐและให้โจทก์เป็นเจ้าของกิจการ เมื่อครั้งบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด ยังไม่พ้นสภาพจำเลยที่ ๑ ได้ยืมเงินบริษัทไป ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีกำหนด ๑ ปีในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๘ ต่อปี โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันและเอาหุ้นที่จำเลยที่ ๒ ซื้อเพิ่มจากสหธนาคารกรุงเทพ จำกัด ประกันหนี้รายนี้ด้วยครบกำหนดสัญญาและโจทก์ได้ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเป็นนิติกรรมอำพรางเพราะจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้รับหนังสือให้ชำระค่าหุ้นของบริษัทสหธนาคารกรุงเทพจำกัดที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ถึงแก่อสัญกรรมเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ และมีสิทธิจะซื้อเพิ่มเป็นเงิน ๔,๙๖๒,๕๐๐ บาท หากกองมรดกไม่ชำระเงินพร้อมกับซื้อหุ้นที่เพิ่มขึ้นธนาคารจะจำหน่ายหุ้นให้แก่ผู้อื่น ขณะนั้นคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินของรัฐในกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้อายัดเงินกองมรดกและของจำเลยที่ ๒ ไว้ทั้งหมด จำเลยที่ ๒ ได้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินฯ เพื่อถอนเงินในบัญชีไปซื้อหุ้นที่เพิ่มขึ้นแต่คณะกรรมการดังกล่าวไม่อนุมัติ จำเลยที่ ๒ จึงตั้งจำเลยที่ ๑ เป็นตัวแทนไปกู้เงินจากบริษัทบางกอกกระสอบจำกัด ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทบางกอกกระสอบจำกัดทราบว่ากองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ เป็นผู้กู้เงินรายนี้ แต่ลงชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กู้ และลงชื่อจำเลยที่ ๒ในฐานะผู้จัดการมรดกเป็นผู้ค้ำประกัน โดยเอาใบหุ้นของบริษัทสหธนาคารกรุงเทพจำกัด เป็นประกันด้วย มิใช่เป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยทั้งสองและโจทก์ชอบที่จะบังคับ เอาจากใบหุ้นที่กองมรดกซื้อเพิ่มเติมจำนวน ๔๙,๖๒๕ หุ้น และมอบให้บริษัท บางกอกกระสอบจำกัดยึดไว้เป็นประกันหนี้รายนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หุ้นดังกล่าวตกเป็นของรัฐ หนี้ที่เกิดเพื่อให้มีหุ้นขึ้นก็จะต้องตกเป็นของรัฐด้วยการที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในหนี้สินนั้นอีก เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
วันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันบางประการ แล้วศาลชั้นต้นงดสืบพยาน และพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ย ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ในประเด็น (๑) จำเลยได้กู้เงินจำนวนนี้ไปซื้อหุ้นของบริษัทสหธนาคารกรุงเทพจำกัดจริงหรือไม่ (๒) การทำสัญญากู้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับบริษัทบางกอกกระสอบจำกัดเป็นเจตนาลวงหรือไม่ (๓) จำเลยที่ ๒ ค้ำประกันในฐานะอะไร (๔) จำเลยที่ ๒ ได้เอาใบหุ้นไปจำนำไว้จริงหรือไม่ และ (๕) ใบหุ้นที่ถูกริบไปทั้งหมดมีราคาเท่าใด
ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาใหม่แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า การทำสัญญากู้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัด เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้กันอยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้กู้ และในสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ ๒ กับบริษัทบางกอกกระสอบจำกัดก็เช่นเดียวกันคู่สัญญาแสดงเจตนาลวงโดยทั้งสองฝ่ายต่างรู้กันอยู่ว่าไม่มีการค้ำประกันตามนั้น แต่มีนิติกรรมที่ถูกอำพรางอยู่ คือสัญญากู้ที่จำเลยที่ ๒ ทำกับบริษัทบางกอกกระสอบจำกัดในฐานะเจ้าของรวมและตัวแทนทายาทจึงเป็นทั้งเรื่องเจตนาลวงและนิติกรรมอำพรางในเรื่องเจตนาลวงนั้นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัทบางกอกกระสอบ จำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ ส่วนในเรื่องนิติกรรมอำพรางเห็นว่า จำเลยที่ ๒ กระทำเพื่อประสงค์จะรักษากองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไว้มิให้สูญเสียผลประโยชน์อันจะพึงมีพึงได้แม้ขณะจำเลยที่ ๒ ร้องขออนุมัติต่อคณะกรรมการสอบสวนทรัพย์สินฯขอถอนเงินนั้น จำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ แต่จำเลยที่ ๒ ก็เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเป็นทายาทด้วยผู้หนึ่ง ย่อมมีอำนาจจัดการกู้เงินได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๔๕ ประกอบด้วยมาตรา ๑๓๕๘ ไม่มีเหตุอันใดที่จะให้จำเลยที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว และวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยนำสืบว่า ความจริงจำเลยที่ ๒ เป็นผู้กู้ยืม มิใช่เป็นผู้ค้ำประกันนั้นเป็นการสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญากู้ยืม และสัญญาค้ำประกันต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ นั้น เห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องนิติกรรมอำพราง ซึ่งมาตรา ๙๔ ไม่ตัดสิทธิจำเลยในอันที่จะนำสืบแสดงว่าสัญญาที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา ๙๔ นี้ก็ห้ามแต่เฉพาะเรื่องการนำพยานบุคคลเข้ามาสืบแทนเอกสารเท่านั้น แต่ในคดีนี้จำเลยนำสืบหักล้างพยานเอกสารด้วยเอกสารโดยมีการสืบพยานบุคคลประกอบข้อความในเอกสารและลายมือในเอกสารเท่านั้นกรณีไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติมาตรานี้แต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาด้วยว่า การที่ศาลล่างทั้งสองสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับนั้นไม่มีเหตุอันสมควร ชอบที่โจทก์จะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๖๑ นั้นเห็นว่าจำเลยเพียงแต่กล่าวเรื่องนี้ไว้ในคำแก้ฎีกาจำเลยย่อมไม่มีสิทธิจะร้องขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ในขณะเดียวกันจำเลยก็จะฎีกาในเรื่องดุลพินิจเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมโดยเฉพาะไม่ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๖๑, ๑๖๗ วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยตลอดมาทุกชั้นศาลในฐานะที่จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นที่สุด
พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม เป็นให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย รวมทั้ง ๕ ศาลโดยกำหนดค่าทนายให้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์