คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2168/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในทางอาญา เป็นเรื่อง ที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐาน เท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติ ในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิด มิได้ และเมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่า พยานหลักฐานของจำเลย โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายชนะคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์จากนายชลวิทย์ สิทธิสุทธิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2536 จำเลยได้ลักรถยนต์ของนายชลวิทย์ไปโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์เป็นเงิน 1,500,000 บาท โจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัย ขอให้จำเลยคืนรถยนต์ยี่ห้อเบ็นซ์ 230 อี หมายเลขทะเบียน 6อ-4333 กรุงเทพมหานคร หรือใช้ราคาเป็นเงิน 1,577,043 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1 ,500,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ลักรถยนต์ยี่ห้อเบ็นซ์หมายเลขทะเบียน 6อ-4333 กรุงเทพมหานคร ของนายชลวิทย์ สิทธิสุทธิ์ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยเป็นคนลักและขณะนายชลวิทย์แจ้งความร้องทุกข์ก็ไม่ได้ระบุว่า จำเลยเป็นคนลักในคดีอาญาตามทางสอบสวนก็ไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นคนลักรถยนต์ทั้งพนักงานอัยการมีความเห็นโดยสั่งไม่ฟ้องจำเลยแล้วปล่อยตัวจำเลยพ้นข้อหาไป ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นฟังได้ยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อเบ็นซ์ 230 อี หมายเลขทะเบียน6อ-4333 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายชลวิทย์ สิทธิสุทธิ์ซึ่งเป็นรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากบริษัทซิตี้คอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2536 อันอยู่ในระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยให้การคุ้มครองอยู่ รถยนต์คันดังกล่าวได้ถูกคนร้ายลักไปโจทก์จึงได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์จำนวน 1,500,000 บาท ให้แก่บริษัทซิตี้คอร์ปลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ในคดีอื่น และได้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาว่าลักรถยนต์คันเกิดเหตุในคดีนี้ด้วย แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ภายในกำหนดอายุความ
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้มีว่า จำเลยทำละเมิดลักรถยนต์คันดังกล่าวไปหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในทางอาญา ก็เป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนจึงนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิด เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ทำละเมิดลักรถยนต์คันเกิดเหตุที่โจทก์รับประกันภัยไว้จริงและโจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทซิตี้คอรป์ลิสซิ่ง (ประเทศไทย)จำกัด ผู้รับประโยชน์ไปแล้วจำนวน 1,500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยได้”
พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนรถยนต์ยี่ห้อเบ็นซ์ 230 อีหมายเลขทะเบียน 6อ-4333 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์หรือชดใช้เงินจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2537 อันเป็นวันที่โจทก์ได้จ่ายเงินไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share