แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 2 มิได้ร่วมลงทุนกับผู้อื่นซื้อที่ดิน เงินที่โจทก์ที่ 2ได้รับ 48,000,000 บาท เนื่องจากผู้ขายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นของโจทก์ที่ 2 แต่ผู้เดียว เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) การหักค่าใช้จ่ายต้องเป็นไปตามมาตรา 46 ซึ่งให้นำมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับด้วยเงินจำนวน 7,570,000 บาท ที่โจทก์ที่ 2 จ่ายให้แก่ ส.กับพวกเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเสียหายจัดสรรคืน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ได้รับเงิน48,000,000 บาท มิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 46 ประกอบมาตรา 65 ตรี
คณะบุคคลชำระเงินภาษีอากรจำนวน 5,857,461 บาท แก่กรมสรรพากรจำเลยไปแล้ว แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นผู้จัดการของคณะบุคคลและต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนดังกล่าวด้วย ก็ไม่อาจถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนตัวโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระแก่จำเลยได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(3) ประกอบมาตรา 9 กำหนดให้ผู้จะฟ้องขอคืนค่าภาษีอากรที่ชำระไปจะต้องยื่นคำร้องต่อกรมสรรพากรจำเลยเพื่อสั่งคืนตามหลักเกณฑ์วิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เสียก่อน ถ้าจำเลยไม่ยอมคืนจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนค่าภาษีอากรแก่โจทก์ ไม่ว่าโจทก์จะถูกโต้แย้งสิทธิแล้วหรือไม่ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี2536 ไว้ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่าโจทก์ที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถูกต้อง ให้โจทก์ที่ 1 ชำระภาษีอากร เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ รวมจำนวน 19,553,470 บาทโจทก์ที่ 1 ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้อง แต่มีเหตุอันควรผ่อนผันจึงพิจารณาลดเบี้ยปรับให้คงเรียกเก็บร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายและวินิจฉัยให้โจทก์ที่ 1ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 8,729,228.05 บาทกับเบี้ยปรับจำนวน 4,364,614.03 บาท และเงินเพิ่มจำนวน2,095,014.72 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 15,188,856.80 บาทโจทก์ทั้งสองเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ที่ 2 กับบุตรและญาติอื่น ๆ ร่วมกับนายสุรินทร์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล นางกิ่งกาญจน์ อัครเวสสะพงศ์นายอัษฎา อัครเวสสะพงศ์ และนางพนิดา สุนทรมโนกุลร่วมลงทุนซื้อที่ดินจากบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัดเป็นเงินจำนวน 297,948,000 บาท โดยโจทก์ที่ 2 เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายแทนหุ้นส่วนคนอื่น ต่อมาโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกค่าเสียหายและเงินมัดจำคืนจากบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด ฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ศาลแพ่งพิพากษาตามยอมในคดีหมายเลขแดงที่ 13373/2536 ให้จำเลยในคดีดังกล่าวชดใช้เงินจำนวน 48,000,000 บาท โจทก์ที่ 2และผู้เป็นหุ้นส่วนเข้าใจโดยสุจริตว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(13) จึงมิได้ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามคณะบุคคล ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2538โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการหรือผู้จัดการคณะบุคคลได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษีจำนวน 5,857,461 บาท อย่างไรก็ตามการประเมินภาษีอากรของจำเลยหักค่าใช้จ่ายให้โจทก์ทั้งสองไม่ถูกต้อง จำเลยอ้างว่าเงินได้พึงประเมินจำนวน 48,000,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสามีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายให้โจทก์เพียง 25,000,000 บาท โจทก์ที่ 2มีหลักฐานการจ่ายให้แก่ผู้ร่วมทุนต้องถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ทั้งสองนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายเสมือนประเภทดอกเบี้ยได้รวมจำนวน7,570,000 บาท ค่าดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินจำนวน 2,700,000บาท คืนเงินทดรองให้นายสุรินทร์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล จำนวน 300,000 บาท ค่านายหน้านายพรชัย ล้อมปกรณ์ จำนวน3,000,000 บาท ค่าทนายความนายมาโนช มโนคล้าย จำนวน6,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายดำเนินการจำนวน 3,000,000 บาทค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเสียหายจัดสรรคืนจำนวน 7,570,000 บาทและค่าใช้จ่ายมัดจำจัดสรรคืนจำนวน 15,000,000 บาทรวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นจำนวน 34,570,000 บาท ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ ต.6/1074/1/100282 ลงวันที่ 30 มิถุนายน2538 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 100/2541/สภ.1 (กม.1) ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541ให้จำเลยนำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ที่ 2 ที่ได้ชำระไว้ในนามคณะบุคคลนางพรรณี ศิวะโมกข์ ลัคณา และนางพนิดาสุนทรมโนกุล กับพวก จำนวน 5,857,461 บาท มาหักออกจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่โจทก์ทั้งสองอาจต้องชำระตามคำพิพากษา ถ้าหากไม่สามารถหักได้ให้จำเลยคืนเงินภาษีดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมด
จำเลยให้การว่า สัญญาระหว่างโจทก์ที่ 2 กับบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด มิได้ระบุข้อความให้เห็นว่าโจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนหุ้นส่วนคนอื่นหรือคณะบุคคล โจทก์ที่ 2 ได้รับเงินจำนวน 48,000,000 บาทมามิใช่เงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด อันได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(13) และมิใช่เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล อันได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(14)คดีนี้เป็นการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คณะบุคคลและบุคคลธรรมดาเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้คนละรายกันจึงไม่อาจนำภาษีที่ชำระไว้ในนามคณะบุคคลมาเครดิตหรือหักกลบลบกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะต้องชำระได้ โจทก์ที่ 2 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลภายหลังจากได้รับแจ้งการประเมินภาษีดังกล่าว การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคลถือว่าเป็นการชำระภาษีที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย เป็นเรื่องคณะบุคคลนางพรรณีกับพวกต้องยื่นคำร้องขอคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี (1) โจทก์ทั้งสองฟ้องขอเงินภาษีดังกล่าวและดอกเบี้ยคืนโดยมิได้อุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองส่วนนี้ต้องห้ามฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 8 และ 9
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด.12) เลขที่ ต.6/1074/1/100282 ลงวันที่ 30 มิถุนายน2538 กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 100/2541/สภ.1(กม.1) ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541โดยให้โจทก์ทั้งสองเสียเบี้ยปรับร้อยละ 20 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 เป็นภริยาโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2536 แสดงเงินได้เฉพาะเงินเดือนของโจทก์ที่ 1 จำนวน 134,000 บาท มิได้นำเงินที่บริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด ชำระแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 48,000,000 บาท มาคำนวณเป็นรายได้ด้วย เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ที่ 1 ใหม่นำเงินได้จำนวน 48,000,000 บาท คำนวณเป็นรายได้ของโจทก์ที่ 2โดยหักค่าใช้จ่ายให้คือเงินมัดจำจำนวน 15,000,000 บาทกับค่านายหน้าจำนวน 2,000,000 บาท และค่าทนายความจำนวน 6,000,000 บาท แล้วแจ้งให้โจทก์ทั้งสองชำระภาษีเพิ่มเติมจำนวน 8,729,228.05 บาท กับเบี้ยปรับ 1 เท่า จำนวน8,729,228.05 บาท และเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 31 กรกฎาคม2538 จำนวน 2,095,014.72 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 19,553,470.82 บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 7 โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามคำอุทธรณ์เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 79 ถึง 88 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้อง แต่ลดเบี้ยปรับให้คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย ให้โจทก์ทั้งสองชำระภาษีจำนวน 8,729,228.05 บาท กับเบี้ยปรับจำนวน4,364,614.03 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 2,095,014.72 บาทรวมทั้งสิ้นจำนวน 15,188,856.80 บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 3….
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อที่สองมีว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้เพียงใด เห็นว่า สำหรับค่าดำเนินการจำนวน 3,000,000 บาท นั้น โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าบริหารงานของโจทก์ที่ 1 กับนายสุรินทร์ที่ได้ทดรองจ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกรมที่ดิน ค่าพาหนะ ค่าใช้จ่ายในการเตรียมโครงการบ้านจัดสรรและอื่น ๆ ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่โจทก์ที่ 2 ฟ้องบริษัทเคหะพัฒนาและการเกษตร จำกัด จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนค่าใช้จ่ายที่อ้างว่าผู้ร่วมลงทุนรับไปจำนวน7,570,000 บาท นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า โจทก์ที่ 2มิได้ร่วมลงทุนกับผู้อื่นซื้อที่ดิน เงินที่โจทก์ที่ 2 ได้รับมาจำนวน48,000,000 บาท เป็นของโจทก์ที่ 2 แต่ผู้เดียว แม้จะมีการจ่ายเงินจำนวน 7,570,000 บาท แก่นายสุรินทร์กับนางกิ่งกาญจน์และนางพนิดาจริงก็ฟังไม่ได้ว่าเกี่ยวกับการจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ได้รับเงินจำนวน 48,000,000 บาท จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากเงินได้จำนวนดังกล่าวได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 46และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งให้นำประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าเงินได้จำนวน 48,000,000 บาท ดังกล่าว เป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญา มิใช่เงินได้ที่โจทก์ที่ 2 ได้รับมาจากการประกอบกิจการ ไม่อาจนำมาตรา 65 ตรี(13) มาใช้บังคับได้นั้น เห็นว่าเงินได้จำนวนดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8)กล่าวคือ เป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7)การหักค่าใช้จ่ายเป็นไปตามมาตรา 46 จึงต้องนำมาตรา 65 ตรีมาใช้บังคับด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อที่สามมีว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธินำเงินจำนวน 5,857,461 บาท มาหักจากภาษีที่ต้องชำระหรือไม่ เห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นภาษีอากรที่คณะบุคคลชำระแก่จำเลย แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นผู้จัดการของคณะบุคคลและต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนดังกล่าวนี้ด้วย ก็ไม่อาจถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนตัวโจทก์ทั้งสองไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระแก่จำเลยได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองข้อที่สี่มีว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินจำนวน 5,857,461บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นภาษีอากรที่คณะบุคคลชำระแก่จำเลยต้องถือว่าเป็นภาษีอากรของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการของคณะบุคคลด้วย การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ให้โจทก์ที่ 2 นำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ทั้งสองต้องชำระแก่จำเลยถือว่าโต้แย้งสิทธิโจทก์ที่ 2 แล้วโจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528มาตรา 7(3) ประกอบมาตรา 9 กำหนดให้ผู้จะฟ้องขอคืนค่าภาษีอากรที่ชำระไปจะต้องยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อสั่งคืนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เสียก่อนเมื่อจำเลยไม่ยอมคืนจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ เมื่อโจทก์ที่ 2ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองไม่ว่าโจทก์ทั้งสองจะถูกโต้แย้งสิทธิแล้วหรือไม่ก็ตาม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง