คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีการัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าวพ.ศ. 2533 และมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 อันเป็นอำนาจหน้าที่ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกา ดังนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้ง เกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์ผู้ถูกเวนคืนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่จะถูก เวนคืนและถูกเวนคืน โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนแล้วแต่โจทก์เห็นว่าเงินทดแทนดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมจึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยขอเงินค่าทดแทนเพิ่มในส่วนที่ขาดเท่ากับเป็นการฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 นั่นเอง แม้ว่าคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งเพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นเครื่องแสดงเจตนาแทนจำเลยก็ตาม ศาลชอบที่จะบังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 337 และโฉนดเลขที่ 223471 เมื่อ พ.ศ. 2533 มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวาง เขตคลองเตยและเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา – อาจณรงค์ และให้ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 337 ถูกเวนคืนทั้งแปลงเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 223471 ถูกเวนคืนบางส่วน เนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวาการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 337 ตารางวาละ 9,500 บาท ส่วนโฉนดเลขที่ 223471ตารางวาละ 9,300 บาท รวมเป็นเงิน 80,289,500 บาทซึ่งเป็นราคาไม่เป็นธรรม โจทก์ได้อุทธรณ์ต่อจำเลยในฐานะรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในอัตราตารางวาละ30,000 บาท เป็นเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 175,760,500 บาทแต่จำเลยยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยมีคำสั่งเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์อีก 175,760,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นเครื่องแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นแก่โจทก์เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 337 เป็นเงิน 2,285,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 337 และ โฉนดเลขที่ 223471 เนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา และ 14 ไร่3 งาน 61 ตารางวา ตามลำดับ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2533ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวางเขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533 ใช้บังคับเพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา – อาจณรงค์มีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ดินโฉนดเลขที่ 337 ถูกเวนคืนทั้งแปลง คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวตารางวาละ9,500 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 223471 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 9 ไร่3 งาน 65 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดเงินค่าทดแทนให้ตารางวาละ 9,300 บาท โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบทางด่วนสายรามอินทรา-อาจณรงค์ กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนและรับเงินจากจำเลยไปแล้วและได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นในอัตราตารางวาละ 30,000 บาท แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่เพิ่มเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์โดยเห็นว่าเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯกำหนดให้นั้นถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในการชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 และมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 อันเป็นอำนาจหน้าที่ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 ดังนั้นเมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และแม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยมีคำสั่งเพิ่มเงินค่าทดแทนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นเครื่องแสดงเจตนาแทนจำเลย แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ก็ได้บรรยายว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดอยู่ในเขตที่จะถูกเวนคืนโดยที่ดินโฉนดเลขที่ 337 ถูกเวนคืนทั้งแปลง ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 223471 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวาโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 9,500 บาท และ 9,300 บาทตามลำดับ โจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมจึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยขอเงินค่าทดแทนเพิ่มในอัตราตารางวาละ30,000 บาท ทั้งสองโฉนด คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 256,050,000 บาทโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว 80,289,500 บาท ยังขาดอีก175,760,500 บาท ดังนี้ จึงเท่ากับเป็นการฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 นั่นเองซึ่งศาลชอบที่จะบังคับให้ได้
คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นเรื่องการกำหนดเงินค่าทดแทน แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยว่าเงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยในการเวนคืนเป็นราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้วหรือไม่ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด เมื่อศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงสภาพที่ตั้งที่ดินและเหตุอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่งแล้ว เห็นควรกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 337 ตารางวาละ 14,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 223471 เห็นควรกำหนดเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละ 10,300 บาท สรุปแล้วที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 337ถูกเวนคืนเนื้อที่ 4570 ตารางวา ค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตารางวาละ4,500 บาท เป็นเงิน 20,565,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 223471ถูกเวนคืนเนื้อที่ 3,965 ตารางวา ค่าทดแทนเพิ่มขึ้นตารางวาละ1,000 บาท เป็นเงิน 3,965,000 บาท รวมค่าทดแทนเพิ่มขึ้น24,530,000 บาท
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีก24,530,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share