คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ที่กระทำความผิดข้อหานี้ได้นั้น นอกจากต้องเป็นผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแล้ว ยาเสพติดให้โทษที่ผู้ขับขี่เสพนั้นต้องเป็นไปตามที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวด้วย เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกฎกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่องกำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 เท่านั้น โดยขณะกระทำผิด อธิบดีกรมตำรวจไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 58, 69, 91, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4, 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2552 มาตรา 4, 42, 43, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบของกลาง นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1498/2557, 1499/2557 และ 1500/2557 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง, 58, 69 วรรคหนึ่ง, 91 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานเสพมอร์ฟีน จำคุก 6 เดือน ฐานขับรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 600 บาท รวมจำคุก 12 เดือน และปรับ 600 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 300 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1506/2557 ของศาลชั้นต้น ยกคำขอที่ให้นับโทษต่อนอกจากนี้ และยกฟ้องข้อหาเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน แต่ให้ริบฝิ่นดิบของกลาง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยเสพมอร์ฟีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 แล้วขับรถจักรยานยนต์นั้น ถือว่าเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยข้อกำหนดของอธิบดีกรมตำรวจอีกนั้น เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ที่กระทำความผิดข้อหานี้ได้นั้น นอกจากต้องเป็นผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแล้ว ยาเสพติดให้โทษที่ผู้ขับขี่เสพนั้นต้องเป็นไปตามที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวด้วย เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกฎกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่องกำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 เท่านั้น โดยขณะกระทำผิด อธิบดีกรมตำรวจไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share