คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการเช่าตึกแถวระหว่างจำเลยที่1ผู้ให้เช่ากับจำเลยที่2ผู้เช่าและขับไล่จำเลยที่2ออกจากตึกแถวแต่เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่1ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีจำเลยที่1ออกจากสารบบความแล้วผลย่อมเป็นไปตามมาตรา176แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ให้คู่ความกลับเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการฟ้องเลยกรณีหากมีการเพิกถอนนิติกรรมการเช่าย่อมเป็นการกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่1อันมีอยู่ตามสัญญาเช่าและเป็นบุคคลนอกคดีศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าระหว่างจำเลยที่1กับจำเลยที่2ได้ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งในจำนวน 10 คนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1142 เลขที่ดิน 1025 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทางมรดกมาจากนายจตุรงค์ อิศระ ตั้งแต่วันที่5 กันยายน 2505 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งได้จดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 15 ปี โดยโจทก์และเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นมิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอม จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปกปิดความจริงข้อนี้จึงทำให้เจ้าพนักงานอำเภอพระประแดงหลงผิดได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้ ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดภาระติดพันแก่ที่ดินและตึกแถวพิพาท โจทก์ได้ทราบการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2533 จึงได้ติดต่อให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิการเช่าตึกแถวพิพาท พร้อมทั้งแจ้งให้จำเลยที่ 2 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์และเจ้าของรวมคนอื่นได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการเช่าตามสัญญาเช่าตึกแถวพิพาท เลขที่ 10/2 หมู่ที่ในเขตตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทดังกล่าว และส่งมอบให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามมิให้จำเลยที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องกับตึกแถวพิพาทอีกต่อไปและให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท
โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ได้พักอาศัยในตึกแถวพิพาทมาเป็นเวลา 30 กว่าปีแล้ว เดิมตั้งแต่ก่อนปี 2499นายจตุรงค์ อิศระ บิดาของโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ได้ให้บิดาจำเลยที่ 2เช่าตึกแถวพิพาท หลังจากนายจตุรงค์เสียชีวิตแล้ว จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ได้ดำเนินการให้เช่าตึกแถวพิพาทตลอดมาทำให้บิดาของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าตึกแถวพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2524 จำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อปี 2528จำเลยที่ 1 ได้เรียกเงินจำนวน 100,000 บาท จากจำเลยที่ 2และจดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาทใหม่มีกำหนด 15 ปี จำเลยที่ 2เป็นบุคคลภายนอกและได้กระทำการโดยสุจริต สัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันตามกฎหมาย โจทก์และเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนการเช่าตึกแถวพิพาท โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าตึกแถวเลขที่ 10/2 หมู่ที่ในเขตตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับที่ 56/2528 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2528 ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวดังกล่าวและส่งมอบให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยที่ 2ชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 2 จะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากตึกแถวดังกล่าวเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการเช่าตึกแถวพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1ผู้ให้เช่ากับจำเลยที่ 2 ผู้เช่า และขับไล่จำเลยที่ 2 ออกจากตึกแถวพิพาท แต่ปรากฎว่าโจทก์ได้ยื่นคำบอกกล่าวถอนฟ้องจำเลยที่ 1ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความแล้ว ผลย่อมเป็นไปตามมาตรา 176 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ให้คู่ความกลับเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการฟ้องเลย ภายหลังเมื่อถอนฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว กรณีหากมีการเพิกถอนนิติกรรมการเช่า ผลย่อมเป็นการกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1อันมีอยู่ตามสัญญาเช่าและเป็นบุคคลนอกคดี ดังนั้นศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2 ออกจากตึกแถวพิพาทนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าได้เสียแล้ว คำขอของโจทก์ในส่วนนี้ก็เป็นอันตกไปด้วย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์

Share