คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่ พ.ศ. 2485มีบุตรด้วยกัน 7 คน ผู้ร้องซื้อบ้านพิพาทด้วยเงินของผู้ร้องขณะที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ดังนี้ถือได้ว่าร่วมกันซื้อมา บ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ได้มาจากการทำมาหาได้ร่วมกันผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาท.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์บังคับคดีนำยึดบ้านเลขที่ 90/6 แขวงสวนหลวงเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ราคาประมาณ 40,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมิใช่ของจำเลยที่ 2 เป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียว ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่าทรัพย์ที่ยึดมิใช่ของผู้ร้องแต่ผู้เดียวเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 และผู้ร้องทำมาหาได้ร่วมกัน
ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเป็นเวลานานจนมีบุตรด้วยกัน 7 คน บุตรคนโตอายุ 40 ปี แสดงว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์และรับผิดชอบร่วมกันเป็นเวลานาน ข้อที่ผู้ร้องอ้างว่าย้ายออกจากบ้านเดิมที่เคยอยู่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไปอยู่บ้านพิพาทเพราะมีเรื่องไม่ชอบใจกับจำเลยที่ 2 ผู้ร้องก็ไม่ได้อ้างว่าได้เลิกร้างกับจำเลยที่ 2 โดยเด็ดขาด อาจเป็นแต่เพียงแยกกันอยู่ชั่วคราวก็ได้ ข้อที่อ้างว่าไม่ชอบใจจำเลยที่ 2ก็ไม่ปรากฏว่าเพราะเหตุอะไร ร้ายแรงขนาดไหน และไม่มีพยานสนับสนุนเป็นแต่เพียงข้ออ้างลอย ๆ การที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ย้ายเข้าและย้ายออกจากทะเบียนบ้านบ่อย ๆ ไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่ามีการเลิกร้างการเป็นสามีภริยาต่อกันเพราะปรากฏว่าในปี 2519 จำเลยที่ 2 ได้ย้ายทะเบียนเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทอยู่ร่วมกับผู้ร้อง พอถึงปี 2522 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ก็ทะเลาะกันอีก คราวนี้ผู้ร้องย้ายออกไปอยู่จังหวัดสมุทรปราการ แต่ในปีเดียวกัน ผู้ร้องก็กลับมาคืนดีและอยู่ด้วยกันในบ้านพิพาทต่อไป ครั้นปี 2524 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ทะเลาะกันอีก ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ย้ายออกไปจากบ้านพิพาท แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 2 เพียงแต่ย้ายไปอยู่ในบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนกันโดยผู้ร้องให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ในการที่จำเลยที่ 2ไปซื้อบ้านหลังนั้น แสดงว่าการไม่ชอบใจกันระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นสามีภริยาซึ่งเกิดขึ้นนั้น ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เลิกร้างต่อกันอย่างจริงจัง เพียงแต่แยกกันอยู่เมื่อไม่พอใจกันและกันเท่านั้น ในที่สุดก็คืนดีกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าขณะที่ผู้ร้งอซื้อบ้านพิพาทผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา สำหรับปัญหาข้อที่สองว่า บ้านพิพาทเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 2 หรือไม่ ผู้ร้องนำสืบว่า บ้านพิพาทเดิมเป็นของนางละออ ฟักภู่ ผู้ร้องเข้าไปอยู่ในบ้านพิพาทได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็ซื้อบ้านหลังนี้ไว้โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ปรากฏจากสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายหมาย จ.1 ว่า เมื่อคราวที่จำเลยที่ 2 ซื้อบ้านหลังเลขที่ 90 ในปี 2524 ผู้ร้องได้ลงนามให้ความยินยอมในฐานะสามี ทั้ง ๆ ที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ไม่ใช่สามีภริยากันตามกฎหมาย แสดงว่าในการทำนิติกรรมสำคัญอย่างเช่นการซื้อขายบ้าน ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 จะต้องได้ร่วมรู้เห็นยินยอมกันทั้งผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องแต่ผู้เดียว คงอ้างเพียงว่าการซื้อบ้านพิพาทนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ได้รับรู้ยินยอมในการซื้อบ้านดังกล่าวด้วย เชื่อได้ว่า ผู้ร้องซื้อบ้านพิพาทโดยจำเลยที่ 2 ยินยอม แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าได้ซื้อมาด้วยเงินของผู้ร้องเองก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันซื้อมาในระหว่างที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ได้มาจากการทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยที่ 2 จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในบ้านพิพาท ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกคำร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share