คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพลตำรวจออกปฎิบัติการตามแผนกวาดล้างโจรผู้ร้ายในฤดูแล้งระหว่างปฎิบัติการ ผู้บังคับกองพบจำเลยกำลังเมาสุราพกปืนยืนขวางถนนอยู่จึงดึงตัวขึ้นระเพราะเห็นว่าถ้าปล่อยไว้อาจจะไปก่อเหตุวุ่นวายเดือดร้อน ระหว่างทางจำเลยเอาลูกระเบิดที่มีอยู่ถอดสลักนิรภัยโยนเข้าไปใต้ที่นั่งของผู้บังคับกองแล้วจำเลยกระโดดรถหนีลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้ผู้บังคับกองกับพวกบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่
จำเลยมีลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต และใช้ลูกระเบิดนั้นพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เป็นความผิดสองกระทงและเมื่อจำเลยได้ใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวไปเสียก่อนวันที่พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 ซึ่งยกเว้นโทษแก่ผู้มีวัตถุระเบิดฯ ไว้ในความครอบครองที่นำไปมอบแก่นายทะเบียนท้องที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีวัตถุระเบิดที่จะส่งมอบแก่นายทะเบียนได้ย่อมไม่ได้รับยกเว้นโทษ
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงจำเลยรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาควรจะได้รับโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ลดโทษเลยนั้น พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ขอให้ลงโทษจำคุกหนักขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งรับราชการเป็นตำรวจภูธรประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าเรือ บังอาจมีอาวุธปืนพกออโตเมติกขนาด .38 ใช้ยิงได้ หมายเลขทะเบียน อ.ย.4/1532 หนึ่งกระบอก พร้อมด้วยแมกกาซีนและกระสุนปืน 9 นัดมีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ วี.40 หรือแบบ 12 ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยได้บังอาจพกพาอาวุธปืนและลูกระเบิดดังกล่าวเข้าไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยเสพสุราเมาครองสติไม่ได้ ประพฤติวุ่นวายอยู่บนทางสาธารณะขณะนั้นเองว่าที่พันตำรวจตรีศิริ ทองมี ผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าเรือพร้อมด้วยนายตำรวจและตำรวจอีกหลายคนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายนั่งรถยนต์จี๊พผ่านมาพบจำเลยกำลังเมาสุราและประพฤติวุ่นวาย จึงจับจำเลยมาเพื่อสอบสวนดำเนินคดีอาญา และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย มิให้จำเลยประพฤติวุ่นวายหรือก่อเหตุร้ายต่อไป อันเป็นการกระทำตามหน้าที่ ขณะนำจำเลยขึ้นรถยนต์จี๊พไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าเรือ จำเลยได้บังอาจใช้ลูกระเบิดที่มีอยู่ในครอบครอง ดึงสลักนิรภัยออกแล้วโยนลูกระเบิดเข้าไปใต้เบาะนั่งบนรถยนต์จี๊พซึ่งว่าที่พันตำรวจตรีศิริและร้อยตำรวจโทสมหมายนั่งอยู่ตอนหน้าแล้วจำเลยกระโดดรถหนี ทันใดนั้นเองลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้น ทำให้รถยนต์จี๊พและเครื่องรับส่งวิทยุประจำรถเสียหาย ว่าที่พันตำรวจตรีศิริ ทองมี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เท้าขวาแตกละเอียดต้องตัดขา ร้อยตำรวจโทสมหมายกับพวกบาดเจ็บ ทั้งนี้ โดยจำเลยเจตนาจะฆ่าว่าที่พันตำรวจตรีศิริกับพวก หากแต่สะเก็ดระเบิดถูกอวัยวะส่วนไม่สำคัญ จึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย เหตุเกิดที่ตำบลท่าหลวงและตำบลจำปา อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289(2), 358, 371, 378, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7,55, 72, 78 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 5, 8 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 และขอให้คืนปืนพกและกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ ของกลางนอกนั้นให้ริบ

จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 358, 371, 378, 91 สำหรับมาตรา 288, 80 และมาตรา 358เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 13 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดตามมาตรา 371, 378 ให้ลงโทษปรับกระทงละ 100 บาท คำรับสารภาพของจำเลยเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 สำหรับความผิดข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นหนึ่งในสามจำคุก 8 ปี 10 เดือน 20 วัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371, 378 ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง คงปรับกระทงละ 50 บาทข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ปืนและกระสุนปืนคืนเจ้าของของกลางนอกนั้นให้ริบ ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(2),80 แม้ฟังว่าจำเลยผิดมาตรา 288, 80 จำเลยควรจะได้รับโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ลดโทษเลย เพราะจำเลยรับสารภาพไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีลูกระเบิดสำหรับใช้ในการสงครามไว้ในความครอบครองด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(2), 80 ประกอบด้วยมาตรา 52, 91 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 1, ข้อ 2 วางโทษจำคุกตลอดชีวิตแต่ให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุก 50 ปี และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371, 378 ปรับกระทงละ 100 บาท และความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 8 จำคุก2 ปี รวมเป็นจำคุก 52 ปี ปรับ 200 บาท โดยไม่ลดโทษให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาว่า (1) โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าอย่าลดโทษให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ไม่ลดโทษแก่จำเลย เป็นการพิพากษาเกินคำขอ (2) จำเลยไม่ผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน (3) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371, 378 ปรับกระทงละ 100 บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่ลดโทษให้ เป็นการมิชอบ (4) ความผิดฐานมีลูกระเบิด เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่า

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว่าที่พันตำรวจตรีศิริเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ขณะออกตรวจท้องที่ได้พบจำเลยเมาสุราพกปืนยืนขวางถนนและเห็นว่าอาจจะก่อเหตุวุ่นวายเดือดร้อนขึ้นได้ แม้จะไม่แจ้งข้อหาและจับกุมจำเลยโดยตรง เพียงแต่สั่งให้จำเลยขึ้นรถเพื่อเอาตัวไป เป็นการควบคุมตัวไว้เพื่อป้องกันการก่อความวุ่นวายเดือดร้อน ก็เป็นการกระทำตามหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจะเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ก็ตาม ว่าที่พันตำรวจตรีศิริย่อมจะเอาตัวจำเลยไปควบคุมไว้ก่อนเพราะเหตุดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลย เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่ ส่วนการที่จำเลยมีลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต เป็นความผิดกระทงหนึ่ง จำเลยใช้ลูกระเบิดนั้นโยนใส่เจ้าพนักงานตำรวจ แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ถึงตาย เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานอีกกระทงหนึ่ง และการที่จำเลยมีลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต เป็นความผิดก่อนที่มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 ใช้บังคับ เมื่อมีกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้ยกเว้นโทษแก่ผู้มีวัตถุระเบิดฯ ที่นำไปมอบแก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว แต่จำเลยได้ใช้วัตถุระเบิดนั้นไปเสียแล้วก่อนมีกฎหมายออกใช้บังคับ จำเลยไม่มีวัตถุระเบิดที่จะส่งมอบแก่นายทะเบียนท้องที่ จึงไม่ได้รับยกเว้นโทษแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 371, 378 นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะคู่ความมิได้อุทธรณ์ในความผิดสองกระทงนี้

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ลดโทษแก่จำเลย เป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น ปรากฏว่าโจทก์กล่าวในอุทธรณ์เป็นใจความว่า การกระทำของจำเลยเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง จำเลยปฏิเสธต่อสู้คดีโดยตลอด สืบประจักษ์พยานโจทก์ 3 ปากแล้วจึงรับสารภาพ เพราะจำนนต่อหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ควรจะได้รับโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ลดโทษเลย พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ขอให้ลงโทษจำคุกหนักกว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษมา

พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ลดโทษจำคุกจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เพราะคำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เป็นเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุก 34 ปี 8 เดือน ส่วนโทษปรับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share