แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ลูกจ้างซึ่งทำงานขนส่งจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36 (3) ก็ตาม แต่นายจ้างก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้น หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเคยเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย โดยโจทก์สำนวนแรกเป็นพนักงานขับรถปรับอากาศ โจทก์สำนวนหลังเป็นพนักงานต้อนรับประจำรถปรับอากาศ ระหว่างที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลยนั้น จำเลยให้โจทก์ทั้งสองทำงานเกินกว่าชั่วโมงทำงานตามปกติโดยไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้ และจำเลยค้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยยังต้องคืนเงินประกันแก่โจทก์ทั้งสองอีกด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง หากศาลพิจารณาเห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่ควรจะได้รับค่าล่วงเวลาก็ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างในชั่วโมงที่จำเลยให้โจทก์ทั้งสองทำงานเกินเวลาทำงานปกติวันละ ๘ ชั่วโมงแก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ทำงานล่วงเวลา และไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา เพราะเป็นงานขนส่งซึ่งกฎหมายยกเว้นค่าล่วงเวลา โจทก์ทั้งสองมีวันหยุดประจำสัปดาห์และไม่เคยทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ หากโจทก์ทั้งสองทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยได้จ่ายค่าจ้างแล้ว และจำเลยจ่ายค่าจ้างในการทำงานวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว ระหว่างที่โจทก์ทั้งสองทำงาน จำเลยได้จ่ายเบี้ยเลี้ยงเป็นพิเศษ ไม่ได้จ่ายค่าจ้างในชั่วโมงทำงานที่โจทก์ทั้งสองทำงานเกินกว่าเวลาปกติ เพราะงานที่โจทก์ทำเป็นงานขนส่งซึ่งจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าจ้างในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาปกติ เบี้ยเลี้ยงที่โจทก์ได้รับถือเป็นค่าตอบแทนการทำงานในชั่วโมงที่ทำงานมากกว่าชั่วโมงทำงานปกติไปด้วยแล้ว ให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี และค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสองสำนวน คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์เป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยให้โจทก์ทั้งสองทำงานเกินกว่าวันละแปดชั่วโมงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย จึงต้องจ่ายค่าจ้างในชั่วโมงที่จำเลยให้โจทก์ทำงานเกินเวลาปกติ และเงินเบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ทั้งสอง มิใช่เป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาปกตินั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๓๖ (๓) ซึ่งกำหนดว่า ลูกจ้างที่ทำงานในงานขนส่งไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ แต่จำเลยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์สำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้น หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่ และเมื่อได้พิจารณาถึงเงินเดือนของโจทก์ที่ ๑ ได้เงินเดือนเพียงเดือนละ ๑,๑๑๐ บาท (วันละ ๓๗ บาท) โจทก์ที่ ๒ เดือนละ ๘๑๐ บาท (วันละ ๒๗ บาท) ด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเงินจำนวนน้อยมาก แม้โจทก์ทั้งสองจะได้เบี้ยเลี้ยงเป็นรายเที่ยวเมื่อเทียบกับเวลาทำงานที่ต้องทำงานเกินเวลาทำงานปกติแต่ละเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ตามเกณฑ์คำนวณโดยละเอียดของศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ ๑ จะได้ค่าจ้างวันละ ๑๑๕.๙๐ บาท โจทก์ที่ ๒ วันละ ๖๑.๗๐ บาท โจทก์ทั้งสองจึงย่อมมีสิทธิได้ค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาปกติตามจำนวนเวลาที่โจทก์แต่ละคนได้ทำงานเกินไปจากวันละ ๘ ชั่วโมงนั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในส่วนที่ให้โจทก์ที่ ๑ ทำงานเกินเวลาในวันทำงานปกติเป็นเงิน ๘,๔๖๒.๑๖ บาท และจ่ายแก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๔,๘๑๒.๖๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่โจทก์แต่ละคนลาออกจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง