คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2145/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มูลละเมิดต่อโจทก์ในคดีนี้เป็นการกระทำอันเดียวกับที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์โดยประมาท ซึ่งในคดีอาญาดังกล่าวศาลฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นจำเลยกระทำผิดพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังที่จะลงโทษจำเลยได้ คดีถึงที่สุด ดังนั้นในการพิพากษาคดีนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่าจำเลยมิได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์โดยประมาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ในคดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านโจทก์โดยประมาทนั้น ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายใน คดีอาญาดังกล่าวนั้น ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจึงต้องผูกพันโจทก์ในคดีนี้ด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 เป็นบทบัญญัติถึงการพิพากษาคดีส่วนแพ่งในความรับผิดเรื่องละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าจะต้องดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายส่วนแพ่ง โดยมิต้องคำนึงถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าบ้านโจทก์เพื่อทำปั๊มน้ำมัน จำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้าอยู่แทนเพื่อทำการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ควบคุมดูแล ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและไหม้บ้านของโจทก์ดังกล่าวจนหมดสิ้น จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 2 มิใช่เจ้าของทรัพย์ที่เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาท เพลิงเกิดไหม้ขึ้นโดยอุบัติเหตุจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านของโจทก์โดยประมาท จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 120,000 บาท ให้โจทก์ที่ 1

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ด้วย

โจทก์ที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 อันเป็นเหตุให้เกิดมูลละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้เป็นการกระทำอันเดียวกันกับการกระทำที่อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 4 (อัยการจังหวัดนครสวรรค์) เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2ในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายและน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของผู้อื่นตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 97/2523ของศาลมณฑลทหารบกที่ 4 (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว ฉะนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว การฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ในคดีอาญาดังกล่าวนั้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นจำเลยที่ 2 เป็นคนถ่ายน้ำมันจากรถบรรทุกน้ำมันลงสู่ถังน้ำมันของจำเลยที่ 2 คงมีแต่คำเบิกความของร้อยตำรวจตรีบุรี จันทร์งามว่าหากจำเลยที่ 2 ใช้มอเตอร์ดูดถ่ายน้ำมันแล้วไฟช๊อตก็จะเกิดเพลิงไหม้ได้และไม่มีพยานโจทก์ปากใดว่าจำเลยที่ 2 ใช้มอเตอร์ดูดถ่ายน้ำมัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่พอฟังที่จะลงโทษได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิด ดังนี้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทอันเป็นเหตุให้เกิดไฟลุกไหม้บ้านของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าบ้านของโจทก์ที่ 1นั้นเมื่อฟังว่า จำเลยที่ 2 มิได้กระทำละเมิดแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ด้วย

ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า การที่จะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามาใช้ในคดีแพ่งได้นั้นจะต้องปรากฏว่าคู่ความทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งต้องเป็นคู่ความเดียวกันนั้น เห็นว่าในคดีอาญาที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในข้อหากระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทนั้นบ้านของโจทก์ที่ 1 ถูกไฟไหม้ไปด้วย ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าวนั้น ฉะนั้นข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงต้องผูกพันโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ด้วย

อนึ่ง ที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่าการนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามารับฟังเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 424 นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวนั้นบังคับถึงการพิจารณาคดีส่วนแพ่งในความรับผิดเรื่องละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าจะต้องดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายส่วนแพ่งโดยมิต้องคำนึงถึงบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษและไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่กรณีของโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 424

พิพากษายืน

Share