คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21420/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็คือการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้นฝ่าฝืนต่อความจริง หากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายความจริงก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด การที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แล้ว ร. ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อ. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหม่อมราชวงศ์ จ. ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่รายชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์รวม 10 บริษัท โดยมีชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อ. รวมอยู่ด้วย ซึ่งการแถลงข่าวของบุคคลดังกล่าวเป็นการแถลงต่อสาธารณชนตามปกติวิสัยเพื่อยุติกระแสความตื่นตระหนกต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำแถลงข่าวของบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง การการะทำของบุคคลดังกล่าวจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 939,826,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน และไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งที่ให้งดสืบพยานและคำสั่งที่ยกคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง รวมทั้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 35,934,610 บาท ชำระให้โจทก์ที่ 2 จำนวน 48,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงินรวม 200,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 50,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด จำนวน 35,934,610 หุ้น และมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทดังกล่าว ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 และเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวจำนวน 48,000 หุ้น นายเริงชัย ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายอำนวย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล ในฐานะปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่รายชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์รวม 10 บริษัท ซึ่งรวมทั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด ที่ได้รับคำสั่งให้เพิ่มทุนตามมาตรการเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบสถาบันการเงิน และในวันเดียวกัน จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด เพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 200,000,000 บาท ภายใน 60 วัน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด มีหนังสือขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด ระงับการดำเนินกิจการ เห็นสมควรวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก่อน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า การแถลงข่าวของนายเริงชัย นายอำนวย และหม่อมราชวงศ์จัตุมงคลเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่เห็นว่า ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้” เช่นนี้ ข้อเท็จจริงที่จะทำให้การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายเป็นการทำละเมิดซึ่งจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็คือการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายนั้นฝ่าฝืนต่อความจริง หากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายความจริง ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด ดังนี้ปรากฏตามบันทึกการถอดข้อความจากเทปโทรทัศน์ ว่า นายอำนวยได้แถลงถึงมาตรการของจำเลยทั้งสองที่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินว่า ถ้าสถาบันการเงินรายใดมีปัญหาสภาพคล่องจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนเพื่อให้มีเม็ดเงินใหม่และมีฐานะทางการเงินมั่นคงขึ้น จำเลยที่ 1 ด้วยความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ก็จะให้สถาบันการเงินรายนั้นเพิ่มทุนให้เพียงพอทันที และต่อมานายอำนวยขอให้นายเริงชัยประกาศรายชื่อของบริษัทที่จะต้องเพิ่มทุนว่ามีบริษัทอะไรบ้าง และนายเริงชัยได้ประกาศรายชื่อบริษัทจำนวน 10 บริษัทที่จะต้องเพิ่มทุน โดยมีชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด รวมอยู่ด้วย อันมีลักษณะส่อให้เห็นว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด ขาดสภาพคล่องอันควรให้มีการเพิ่มทุน แม้บริษัทได้จัดให้มีการสำรองเงินร้อยละ 8.86 ตามรายงานแสดงการดำรงฐานะสภาพคล่องสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้สำรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนเงินที่รับฝากจากประชาชนตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองก็นำสืบรับว่า ปี 2539 ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดชะลอตัว โครงการหมู่บ้านจัดสรรและโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ได้ขยายตัวเกินความต้องการของตลาดมาก เนื่องจากตลาดเริ่มซบเซาและดัชนีในตลาดหลักทรัพย์เริ่มตกต่ำลง นอกจากนั้นยังมีข่าวลือเรื่องลดค่าเงินบาทและมีข่าวลือว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่งขาดเงินทุนหมุนเวียนหรือขาดสภาพคล่อง การเกิดข่าวลือทำให้เกิดผลเสียหายต่อระบบสถาบันการเงิน เพื่อที่จะแก้ปัญหาข่าวลือในวันที่ 3 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 โดยนายเริงชัย จำเลยที่ 2 โดยนายอำนวยและหม่อมราชวงศ์จัตุมงคลได้ร่วมกันแถลงข่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด แต่บริษัทเดียวโดยเฉพาะ เมื่อนายเริงชัยระบุว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด เป็นบริษัทหนึ่งที่ต้องมีการเพิ่มทุนแล้ว ในวันเดียวกันกับวันที่มีการแถลงข่าวนั่นเอง จำเลยที่ 1 ก็มีหนังสือถึงบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด ให้เพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 200,000,000 บาท ภายใน 60 วัน เนื่องจากบริษัทมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวนสูงอันมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ผลประกอบการที่แท้จริงในระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมาขาดทุนจำนวนสูง เป็นเหตุให้เงินกองทุนเสื่อมลงอย่างรวดเร็วจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวมตามหนังสือเรื่องให้เพิ่มทุน เจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ในปี 2539 จำเลยที่ 1 เข้าตรวจสอบบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิตแอนด์ ทรัสต์ จำกัด ซึ่ง ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2539 บริษัทมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจัดชั้นจำนวน 857,800,000 บาท เท่ากับร้อยละ 26.96 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้นตามรายงานสรุปข้อเท็จจริง และเอกสารระบุว่าบริษัทมีผลประกอบการในปี 2536 ถึงปี 2538 ขาดทุนสุทธิ 47,700,000 บาท 19,200,000 บาท และ 92,100,000 บาท ตามลำดับ สำหรับปี 2539 เพียงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2539 มีผลขาดทุนระหว่างงวด 90,000,000 บาท อันเป็นผลสืบเนื่องจากการกันเงินสำรองเผื่อสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยเพิ่มขึ้นอีก 85,000,000 บาท ซึ่งอาจทำให้กองทุนของบริษัทในเดือนมิถุนายน 2539 เสื่อมลงเหลือต่ำกว่า 3 ใน 4 ของทุนชำระแล้ว แม้การที่บริษัทแก้ปัญหาโดยการจำหน่ายที่ดินและอาคารที่ทำการ ทำให้เงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77.83 ของทุนชำระแล้ว ก็ไม่ใช่กำไรจากการประกอบการตามปกติ เช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 สั่งให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด เพิ่มทุนเนื่องจากมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจำนวนมากและประกอบกิจการขาดทุนมาโดยตลอดระยะเวลา 4 ปี ก่อนหน้านี้ จนมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องอันอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจต่อไป หากบริษัทไม่สามารถรองรับการไถ่ถอนเงินที่รับฝากจากประชาชน จึงรับฟังได้ว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องจริงและเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต้องกำกับดูแล รวมทั้งแถลงต่อสาธารณชนตามปกติวิสัยเพื่อยุติกระแสความตื่นตระหนกต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ดังนี้ คำแถลงข่าวของนายอำนวย นายเริงชัย และหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกล่าวหรือไขข่าวความจริง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า ณ วันที่ 3 มีนาคม 2540 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด มีเงินฝากอยู่ที่สถาบันการเงินอื่นจำนวน 145,000,000 บาท ตามสำเนาตั๋วสัญญาใช้เงิน 6 ฉบับ นั้น ศาลฎีกาคณะคดีปกครองตรวจดูตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ปรากฏว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 4 ฉบับ โดยบริษัทเงินทุนพรีเมียร์ จำกัด จำนวน 35,000,000 บาท บริษัทเงินทุนบางกอกเงินทุน จำกัด จำนวน 20,000,000 บาท บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 20,000,000 บาท และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอกธนา จำกัด (มหาชน) จำนวน 20,000,000 บาท ตั๋วสัญญาใช้เงินออกเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 จำนวน 2 ฉบับ โดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าพระยา จำกัด จำนวน 20,000,000 บาท และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนพล จำกัด (มหาชน) จำนวน 30,000,000 บาท ทั้ง 6 ฉบับ ใช้เงินเมื่อทวงถาม แต่กลับปรากฏตามหนังสือพิมพ์วัฏจักร ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2541 ที่โจทก์ทั้งสองอ้างเป็นพยานว่า บริษัทที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 6 ฉบับ ดังกล่าวล้วนแต่เป็นบริษัทที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือเพราะขาดสภาพคล่องทั้งสิ้น จนกระทั่งในที่สุดก็ถูกสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการ จึงเป็นไปได้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด จะไม่ได้รับเงินดังกล่าวคืนหรือได้รับคืนในจำนวนเล็กน้อย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า บริษัทมีวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ทำไว้กับธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง รวม 46,000,000 บาท ตามสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี นั้น เห็นว่า วงเงินดังกล่าวเมื่อคิดจากสัดส่วนผลประกอบการขาดทุนสุทธิและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพข้างต้นเห็นว่าเป็นจำนวนเงินไม่มากเพียงพอที่จะเสริมสภาพคล่องได้ตามปกติจนได้ความว่า บริษัทต้องขอความช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 150,000,000 บาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามหนังสือขอรับความช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2540 หลังจากการแถลงข่าวเพียง 2 วัน เท่านั้น รวมทั้งยังปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องว่า ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวมีการถอนเงินออกจากบริษัทมากกว่าการนำเงินเข้าฝาก จนมีเงินกองทุนสุทธิติดลบอยู่ถึง 492,899,000 บาท ด้วยเหตุดังวินิจฉัยมาแล้ว ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นว่า การแถลงข่าวของนายอำนวย นายเริงชัย และหม่อมราชวงศ์จัตุมงคลเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ อินเตอร์เครดิต แอนด์ ทรัสต์ จำกัด จึงไม่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อการกระทำของบุคคลดังกล่าวไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในเรื่องค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสองและฎีกาข้ออื่นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งสองนั้น เป็นฎีกาเฉพาะปัญหาการกำหนดค่าเสียหายเท่านั้น เมื่อรับฟังตามฎีกาของจำเลยทั้งสองได้แล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัยเพราะไม่มีผลต่อคดี ศาลฎีกาคณะคดีปกครองจึงไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองและให้ยกฎีกาของโจทก์ทั้งสองคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share