แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกเงินกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยที่สะสมไว้ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า เงินกองทุนเลี้ยงชีพที่โจทก์ฟ้อง จำเลยได้จ่ายให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยได้จ่ายเงินกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินสมทบกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยอันเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การของจำเลย ย่อมเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงาน และให้ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวข้างต้นใหม่
โจทก์ฟ้องเรียกเงินโบนัสจากจำเลยในปี 2540 ส่วนที่ขาดอีกครึ่งหนึ่งของเงินโบนัสคิดเท่าเงินเดือนของโจทก์จำนวน 2.65 เดือน เป็นเงิน40,582 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยการปลดออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสจากจำเลย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเนื่องจากโจทก์ถูกปลดออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 จึงทำงานไม่ครบปีหรือตามเกณฑ์ที่จำเลยกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสครึ่งปีหลังของปี2540 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การ เป็นการมิชอบ ศาลแรงงานจำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวข้างต้นใหม่เช่นเดียวกัน
ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ การอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยานของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้กระทำได้ภายในระยะเวลาที่ศาลแรงงานกำหนดตามที่เห็นสมควร แม้คดีนี้จำเลยสืบพยานบุคคลปาก อ. โดยยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลแรงงานได้บันทึกคำให้การของ อ. ที่เบิกความถึงเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งศาลแรงงานได้รับเอกสารดังกล่าวที่จำเลยอ้างส่งศาล และหมายเอกสารดังกล่าวไว้ แล้วระบุเอกสารให้แยกเก็บ โดยจำเลยนำสืบพยานเอกสารดังกล่าวโดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก็ตามแต่การที่ศาลแรงงานรับเอกสารดังกล่าวไว้หมาย ล.7 และได้วินิจฉัยถึงเอกสารดังกล่าวในคำพิพากษา แสดงว่าศาลแรงงานเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จึงรับฟังเอกสารหมาย ล.7 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้ในการพิจารณาคดีแรงงานโดยเฉพาะการที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.7 จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ.มาตรา 90 วรรคหนึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ในการประเมินราคาทรัพย์สินของลูกค้าจำเลย โจทก์ได้เรียกและรับเงินจากลูกค้าโดยไม่มีสิทธิ การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ที่โจทก์มีอยู่หาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ จะเห็นได้ว่า จำเลยได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ โดยกล่าวอ้างสาเหตุว่าโจทก์กระทำการเรียกและรับเงินจากลูกค้าโดยไม่ชอบ อันเป็นการกระทำที่ทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าเป็นการให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ ทั้งได้อ้างสาเหตุแห่งการเลิกจ้างครบถ้วนแล้ว ส่วนการที่โจทก์เรียกเงินจากลูกค้ารายใด โจทก์รับเงินอย่างใด จำนวนกี่ราย เป็นรายละเอียดที่จำเลยมีสิทธินำสืบพยานได้ในชั้นพิจารณาคำให้การดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย