แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ปัญหาที่ว่าโจทก์นำรถคันที่เช่าซื้อ ออกขายทอดตลาดโดย ไม่สุจริต ราคาต่ำ กว่าความเป็นจริงนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้าม ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าติดตามรถ แก่โจทก์โดย ที่โจทก์มิได้ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองให้ชำระเงินจำนวนนี้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเฟียต หมายเลขทะเบียน 18-6294 จากโจทก์ในราคา 66,384 บาทผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ รวม 36 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่13-17 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526 จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์เป็นเวลา5 งวด เป็นเงิน 9,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปีนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2526 ถึงวันฟ้องรวมระยะเวลา 17 เดือนเป็นดอกเบี้ย 2,458 บาท รวมเป็นเงิน 11,678 บาท ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องติดตามยึดรถคืน 1,400 บาท รถที่ยึดคืนมีสภาพชำรุดมากโจทก์ได้ประมูลขายได้เพียง 13,000 บาท เป็นเหตุให้โจทก์ขาดทุนเป็นเงิน 31,256 บาท รวมเงินค่าเสียหายเป็นเงิน 32,656 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 11,678 บาท ชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 31,256 บาทชำระค่าดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 44,334 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระโจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยติดค้างค่าเช่าซื้อโจทก์ไม่มีสิทธิ์เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์นำรถที่เช่าซื้อออกขายโดยไม่สุจริตขายต่ำกว่าความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 12,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระโจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์นำรถคันที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวคู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
ปัญหาข้อสุดท้ายจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า รถคันที่เช่าซื้อโจทก์ตีราคาไว้ 30,000 บาท เมื่อนำเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว 22,128 บาท รวมกับเงินที่โจทก์ขายทอดตลาดรถคันที่เช่าซื้อได้อีก 13,000 บาท ย่อมเกินราคารถคันที่เช่าซื้อโจทก์จึงไม่เสียหายแต่อย่างใดนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ.3 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงราคาค่าเช่าซื้อรถคันที่เช่าซื้อไว้เป็นเงิน 66,384 บาท แต่ขณะที่โจทก์ติดตามยึดรถคันที่เช่าซื้อคืนมาได้เป็นเวลาภายหลังจากวันทำสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 มาแล้วถึง 1 ปี 5 เดือนเศษรถยนต์คันที่เช่าซื้อย่อมทรุดโทรมเสื่อมราคาไปเพราะการใช้ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ราคารถคันที่เช่าซื้อในขณะที่โจทก์ติดตามยึดคืนมาได้จึงต้องมีราคาต่ำกว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อ เมื่อพิจารณานำเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์มาแล้ว 22,128 บาท มาคำนวณรวมกับเงินที่โจทก์ขายทอดตลาดรถคันที่เช่าซื้อได้อีก 13,000 บาทก็ยังต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันไว้ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 เป็นเงินถึง 31,256 บาท ประกอบกับตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ระบุให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ตลอดจนค่าเสื่อมราคาเมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวด้วยจึงเห็นได้ชัดว่า โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 นั้นฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าติดตามรถยนต์จำนวน 1,400 บาท แก่โจทก์นั้น ปรากฏว่าตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินจำนวนนี้ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอข้อนี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 11,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.