คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปัญหาที่ว่าโจทก์นำรถคันที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตราคาต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าติดตามรถแก่โจทก์โดยที่โจทก์มิได้ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนนี้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเฟียต 124หมายเลขทะเบียน 1ข-6294 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์มีจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 13 ถึงงวดที่ 17เกินกว่าสองงวดติดต่อกัน โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526 จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 11,678 บาท ชำระค่าเสียหายที่ขายรถได้ราคาต่ำเป็นเงิน 31,256 บาท ชำระค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 44,334 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระโจทก์เสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2ให้การว่า เอกสารสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นโมฆะ เป็นผลให้สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกเป็นโมฆะด้วยจำเลยที่ 1 ไม่เคยติดค้างค่าเช่าซื้อ การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์นำรถที่เช่าซื้อออกขายโดยไม่สุจริตขายต่ำกว่าความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 12,400 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาว่า เมื่อวันที่ 29มิถุนายน 2525 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถคันที่เช่าซื้อจากโจทก์ในราคา 66,384 บาท ยอมชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด งวดละ1,844 บาท รวม 36 งวด ชำระงวดแรกในวันที่ 28 กรกฎาคม 2525ต่อไปชำระทุกวันที่ 28 ของเดือนจนกว่าจะครบตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 12 งวด เป็นเงิน 22,128 บาทแล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 13 ถึงงวดที่ 17 โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2526โจทก์ติดตามยึดรถคันที่เช่าซื้อคืนได้โดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน1,400 บาท ต่อมาโจทก์นำรถคันที่เช่าซื้อขายทอดตลาดไปในราคา 13,000 บาท
ปัญหาข้อแรกจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์นำรถคันที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดโดยไม่สุจริต ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวคู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
ปัญหาข้อสุดท้ายจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า รถคันที่เช่าซื้อโจทก์ตีราคาไว้ 30,000 บาท เมื่อนำเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว 22,128 บาท รวมกับเงินที่โจทก์ขายทอดตลาดรถคันที่เช่าซื้อได้อีก 13,000 บาท ย่อมเกินราคารถคันที่เช่าซื้อโจทก์จึงไม่เสียหายแต่อย่างใดนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงราคาค่าเช่าซื้อรถคันที่เช่าซื้อไว้เป็นเงิน 66,384 บาท แต่ขณะที่โจทก์ติดตามยึดรถคันที่เช่าซื้อคืนมาได้เป็นเวลาภายหลังจากวันทำสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 มาแล้วถึง 1 ปี 5 เดือนเศษรถยนต์คันที่เช่าซื้อย่อมทรุดโทรมเสื่อมราคาไปเพราะการใช้ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ราคารถคันที่เช่าซื้อในขณะที่โจทก์ติดตามยึดคืนมาได้จึงต้องมีราคาต่ำกว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อ เมื่อพิจารณานำเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์มาแล้ว 22,128 บาทมาคำนวณรวมกับเงินที่โจทก์ขายทอดตลาดรถคันที่เช่าซื้อได้อีก13,000 บาท ก็ยังต่ำกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่โจทก์และจำเลยที่ 1ตกลงกันไว้ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 เป็นเงินถึง31,256 บาท ประกอบกับตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3ระบุให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ตลอดจนค่าเสื่อมราคาเมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวด้วย จึงเห็นได้ชัดว่าโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2นั้นฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าติดตามรถยนต์จำนวน 1,400 บาท แก่โจทก์นั้น ปรากฏว่าตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองให้ชำระเงินจำนวนนี้ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ข้อนี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 11,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share