คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นหัวหน้าคนงานมีหน้าที่รับผิดชอบในการลาของลูกจ้างและทำบันทึกรายงานสถิติการมาทำงานของลูกจ้าง โจทก์ต้องปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและรายงานการมาทำงานของลูกจ้างต่อจำเลยตามความเป็นจริง โจทก์ปลอมใบลาอันเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งสำหรับใช้คำนวณค่าจ้างจำเลยได้จ่ายค่าจ้างและเบี้ยขยันให้แก่ว. โดยเชื่อตามพยานหลักฐานปลอมที่โจทก์ทำขึ้น โจทก์มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้างอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)(3) ดังนี้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมาย และยังค้างค่าจ้างโจทก์1,436.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 1,989 บาท ค่าชดเชยเป็นเงิน 19,890 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 1,436.50 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมานายวันชัย ยิ้มพลายขาดงานโจทก์ปลอมใบแทนงานให้นายวันชัย และมิได้เสนอใบแทนงานต่อหัวหน้าผลัดตามคำสั่งจำเลย หลังจากนั้นนายวันชัยขาดงานอีกแต่โจทก์ปลอมใบลาของนายวันชัยเป็นลาพักผ่อนประจำปีครึ่งวันเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างแก่นายวันชัย 101.50 บาทและทำให้นายวันชัยมีสิทธิได้เบี้ยขยัน 205.75 บาท อันเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง ทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยค้างค่าจ้างโจทก์ 1,436.50 บาท จึงขอหักเงินที่จ่ายให้นายวันชัยเกินไปกับค่าจ้างโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีเจตนาทุจริตไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารหรือทุจริตต่อหน้าที่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างค้างชำระ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 23,008.25 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘…ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและเป็นหัวหน้าคนงานซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลลูกจ้างของจำเลย รับผิดชอบในการลาของลูกจ้าง และทำบันทึกรายงานสถิติการมาทำงานหรือไม่มาทำงานของลูกจ้างเพื่อใช้คำนวณค่าจ้าง เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2530 นายวันชัยยิ้มพลาย ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยและเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ ไม่ได้ไปทำงานตามปกติโดยมิได้ลาตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แต่โจทก์ได้ปลอมใบลาของนายวันชัยโดยปลอมลายมือชื่อนายวันชัยลงในใบลาเพื่อแสดงว่านายวันชัยได้ลาถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ซึ่งทำให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างและเป็นหลักฐานในการคิดคำนวณค่าจ้าง จากนั้นโจทก์ลงรายละเอียดในบันทึกรายงานสถิติการมาทำงานของนายวันชัยว่า นายวันชัยได้ลาพักร้อนครึ่งวัน จากการกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยหลงเชื่อและได้จ่ายค่าจ้างประจำวันและเบี้ยขยันให้แก่นายวันชัย ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยแต่งตั้งให้โจทก์เป็นหัวหน้าคนงานซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการลาของลูกจ้างและทำบันทึกรายงานสถิติการมาทำงานของลูกจ้างเพื่อคำนวณค่าจ้างนั้น จำเลยประสงค์จะให้โจทก์ควบคุมดูแลการมาทำงานของลูกจ้างแทนจำเลย ทั้งนี้เพื่อบังคับมิให้ลูกจ้างโกงค่าแรงหรือค่าจ้างจากจำเลย ดังนั้นโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและรายงานการมาทำงานของลูกจ้างต่อจำเลยตามความเป็นจริงเพื่อรักษาประโยชน์ของจำเลย การที่นายวันชัยลูกจ้างรายวันของจำเลยไม่ไปทำงานตามปกติในวันที่ 22 กันยายน 2530 โดยมิได้ลาตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยซึ่งทำให้ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แทนที่โจทก์จะรายงานต่อจำเลยตามความเป็นจริง โจทก์กลับปลอมใบลาของนายวันชัย โดยปลอมลายมือชื่อของนายวันชัยลงในใบลาเพื่อเป็นหลักฐานว่านายวันชัยได้ลาถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย และมีสิทธิได้รับค่าจ้าง เมื่อใบลาเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งสำหรับใช้คำนวณค่าจ้างและจำเลยได้จ่ายค่าจ้างและเบี้ยขยันให้แก่นายวันชัยโดยเชื่อตามพยานหลักฐานปลอมซึ่งโจทก์กระทำขึ้น โจทก์ย่อมมีความผิดฐานปลอมเอกสาร ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) (3) จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน1,436.50 บาท หักเงินที่โจทก์ต้องชดใช้ค่าจ้างและเบี้ยขยันซึ่งนายวันชัยรับไปจากจำเลยออกเป็นเงิน 307.25 บาท คงเหลือเป็นเงิน 1,129.25 บาท แก่โจทก์.

Share