คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ทำเอกสารเซ็นชื่อลงในกระดาษ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเอกสารเพื่อใช้ในกิจการอย่างหนึ่ง เพราะถูกหลอกลวงไม่เป็นการเจตนาทำนิติกรรม ไม่มีผลผูกพันเจ้าของที่เซ็นชื่อประการใด เมื่อเอกสารเหล่านั้นไม่ผูกพัน การโอนไปซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งที่พิพาทที่อาศัยเอกสารเหล่านั้นดำเนินไป จึงไม่มีผลผูกพันผู้ลงชื่อในเอกสารเพราะถูกหลอกลวง(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2500)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องมีใจความที่มีปัญหามาถึงชั้นฎีกาว่าจำเลยได้สมคบกันฉ้อโกงเอาที่ดินตามแผนที่ท้ายฟ้องกับเรือนสามห้องของโจทก์ไปโอนกันโดยจำเลยที่ 1 ได้นำเอกสารหลายฉบับมาให้โจทก์เซ็น โจทก์หลงเชื่อได้เซ็นชื่อในเอกสารเหล่านั้นโดยมิได้อ่านข้อความจำเลยที่ 1 นำกระดาษลายเซ็นไปกรอกข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปไถ่ถอนที่พิพาทที่จำนองไว้กับวัดธรรมบูชา แล้วตรอกข้อความลงในเอกสารอีกฉบับหนึ่งว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ไปทำการยกที่ดินให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ได้ไปจัดการโอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานโอนให้จำเลยที่ 1 การกระทำดังกล่าวทำไปด้วยกลอุบายกลฉ้อฉลโจทก์ นิติกรรมจึงเป็นโมฆะ จึงมาฟ้องให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่อสู้ว่ามิได้ฉ้อโกงโจทก์ โจทก์มอบฉันทะให้จัดการเอง มิได้เอากระดาษเปล่าให้เซ็นแล้วมากรอกข้อความดังฟ้อง เมื่อโจทก์โอนให้จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ได้โอนขายให้จำเลยที่ 1 ๆ ย่อมได้กรรมสิทธิ์

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้หลอกลวงโจทก์ ๆ ไม่มีสิทธิทำลายนิติกรรมหรือให้ศาลแสดงว่าเป็นโมฆะ

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเชื่อข้อเท็จจริงว่าจำเลยสมคบกันหลอกลวงโจทก์ให้ลงชื่อในกระดาษแล้วไปกรอกข้อความไปไถ่เอาที่พิพาทมา แล้วโอนกันต่อไปและวินิจฉัยว่าเมื่อฟังว่าจำเลยสมคบกันล่อลวงโจทก์ ๆ หลงเชื่อได้ลงชื่อในรายงานด้วยความหลอกลวงของจำเลยที่ 1 จึงไม่เรียกว่าเป็นนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 112 เมื่อฟังว่าไม่ใช่นิติกรรมข้อความตามเอกสาร ก.ข.ค.ง. และ จ. ก็ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์แก่โจทก์ประการใด ให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์โดยปราศจากสิทธิใด ๆ

Share