คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2130/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล และเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3จะเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการสาขาของจำเลยที่ 1 ที่กรุงเทพมหานครด้วยอีก ตำแหน่งหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจการ ดำเนินกิจการของสาขากรุงเทพมหานครให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 โดยระบุว่า ผู้รับมอบอำนาจคนใดคนหนึ่งมีอำนาจ ดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจต่างมีสิทธิดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 ได้โดยเอกเทศประกอบกับการสั่งซื้อขายหุ้นโจทก์สั่งกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 โดยตรง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการกระทำใด ๆ ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการฉ้อโกงโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของสาขาจำเลยที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ประกอบธุรกิจเงินทุนและค้าหลักทรัพย์ และเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมีอำนาจเป็นตัวแทน นายหน้าซื้อขายหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4เป็นผู้จัดการสำนักงานสาขา จำเลยที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นรองผู้จัดการสาขา จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1ให้เป็นตัวแทน มีอำนาจดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงานสาขา จำเลยทั้งหกร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ในการซื้อหุ้นของบริษัทเฟิสท์ทรัสต์ จำกัด ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 42

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ฟ้องของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ไม่มีมูล ไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณา ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มีมูลให้ประทับฟ้องของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ไว้พิจารณา

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ประทับฟ้องของโจทก์ทุกข้อหาไว้พิจารณาสำหรับคดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์ในข้อหาสำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต้องกระทำการผ่านกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 มีมูลจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการสาขาของจำเลยที่ 1 ที่กรุงเทพมหานครด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มอบอำนาจการดำเนินกิจการของสาขากรุงเทพมหานครให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตามเอกสารหมาย จ.2 โดยระบุว่าผู้รับมอบอำนาจคนใดคนหนึ่งมีอำนาจดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจต่างมีสิทธิดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 ได้โดยเอกเทศ ประกอบกับโจทก์เบิกความว่าในการซื้อขายหุ้นโจทก์สั่งกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 โดยตรง ฉะนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำใด ๆ ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการฉ้อโกงโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของสาขาจำเลยที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
พิพากษายืน

Share