คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2129/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่โจทก์ในฐานะเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ได้กระทำแทนจำเลยผู้เป็นลูกค้าของโจทก์ ปรากฏว่าพยานโจทก์ที่อ้างว่ารู้เห็นในการสั่งขายหุ้นของจำเลยมีคนเดียวคือ ก.ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินทุนของโจทก์ ส่วนพยานนอกนั้นรวมทั้ง ด. ซึ่งโจทก์ส่งไปทำหน้าที่ซื้อขายหลักทรัพย์ทุกคนล้วนแต่เป็นผู้คอยรับคำสั่งจาก ก. แม้ ด.จะเบิกความว่าระหว่างทำการขายหุ้นตามคำสั่งจำเลย จำเลยได้โทรศัพท์มาถาม ด. ตอบว่าขายได้ 1,700 หุ้น หุ้นที่เหลือ1,300 หุ้นจะขายหรือไม่ จำเลยตอบว่าพอแล้ว ซึ่งข้อความดังกล่าวขัดกับข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ที่ว่าการสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ต้องกระทำผ่านสำนักงานของสมาชิกเท่านั้นลูกค้าไม่มีสิทธิติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่มีเหตุผลน่าเชื่อว่าจำเลยได้โทรศัพท์ไปถาม ด.จริง คำพยานโจทก์ที่อ้างว่าติดต่อกับจำเลยโดยตรงคงมีแต่คำของ ก. และเอกสารต่าง ๆโจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยประสงค์จะให้มีพยานหลักฐานทุกขั้นตอนของการขายหุ้นโดยเฉพาะสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อมีข้อความชัดว่าต้องปฏิบัติตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ทุกประการ แต่การขายหุ้นพิพาท ก. กลับเบิกความรับว่าเมื่อจำเลยมาพบ ก. ที่บริษัทโจทก์ ก็ได้ทำใบสั่งซื้อสั่งขายให้จำเลยลงนาม แต่การขายหุ้นพิพาทโจทก์ไม่ได้ให้จำเลยทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ และจำเลยไม่มีใบหุ้นที่จะขายการที่โจทก์ว่าจำเลยไม่มีใบหุ้น แล้วโจทก์ยังเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งห้ามสมาชิกขายหลักทรัพย์โดยไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง ฉะนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะกลับขายหุ้นให้จำเลยโดยมีจำเลยไม่มีใบหุ้น มาให้ขายเพราะโจทก์ต้องส่งมอบใบหุ้น ที่ขายให้ผู้ซื้อภายใน 4 วันตามระเบียบตลาดหลักทรัพย์ การกระทำของโจทก์จึงเท่ากับเป็นการขายตัวเลขไม่ใช่ขายหุ้น ประกอบกับจำเลยนำหลักทรัพย์มาประกันต่อโจทก์โดยนำเงินมาฝากโจทก์และโจทก์ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยมีวงเงินเพียง 406,500 บาทแต่โจทก์กลับอ้างว่า จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นหลังจากหักค่านายหน้าของโจทก์แล้วเป็นเงิน 6,158,251 บาทหากเป็นจริงก็จะทำให้โจทก์ต้องหาซื้อหุ้นมาให้ผู้ซื้อแทนจำเลยมากกว่าหลักประกันที่จำเลยวางไว้แก่โจทก์และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีสิ่งใดซึ่งจะให้โจทก์เชื่อถือนอกจากเงินที่ฝากโจทก์ไว้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะยอมขายหุ้นให้จำเลยโดยจำเลยไม่มีใบหุ้นจะขาย ดังนี้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้สั่งให้โจทก์ขายหุ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจการค้าหลักทรัพย์และเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์และมอบอำนาจให้โจทก์ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แทน กับขอเป็นลูกหนี้เกินบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่อโจทก์ด้วย จำเลยสั่งโจทก์ให้ขายหุ้นแทนจำเลยโดยใบหุ้น มิได้อยู่ที่โจทก์ และจำเลยไม่ยอมส่งมอบหุ้นให้โจทก์ โจทก์มีหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องส่งมอบใบหุ้นที่ขายแก่ผู้ซื้อ โจทก์จึงต้องจัดซื้อหุ้น ส่งมอบแก่ผู้ซื้อแทนราคาที่สูงกว่าราคาขายทำให้โจทก์เสียหายรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน3,535,445.58 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยสั่งโจทก์ให้ซื้อหรือขายหุ้นตามฟ้องจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในการซื้อขายหุ้นคงมีปัญหาเฉพาะที่พิพาทในคดีนี้คือ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2520 จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จำนวน 4,000 หุ้น วันที่ 4 ตุลาคม2520 สั่งขายหุ้นของบริษัทเจแอนด์เจโฮ จำกัด จำนวน 1,700 หุ้นวันที่ 4 และวันที่ 5 ตุลาคม 2520 สั่งขายหุ้นของบริษัทชลประทานซิเมนต์ จำกัด จำนวน 13,000 หุ้น หุ้นของบริษัทเอเซียไฟเบอร์ จำกัด จำนวน 1,000 หุ้น และหุ้น ของบริษัทจรุงไทยไวร์ แอนด์ เคเบิ้ล จำกัด จำนวน 5,500 หุ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า หุ้นของบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวจำเลยได้สั่งให้โจทก์ขายจริงหรือไม่ ได้ความว่า พยานโจทก์ที่อ้างว่ารู้เห็นในการสั่งขายหุ้นของจำเลย คงมีคนเดียวคือนายเกริกชัย ศิริภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินทุนของบริษัทโจทก์ ส่วนพยานนอกนั้นของโจทก์รวมทั้งนางดัยนามิลินทวณิช ซึ่งโจทก์ส่งไปทำหน้าที่ซื้อขายหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ทุกคน ล้วนแต่เป็นผู้คอยรับคำสั่งจากนายเกริกชัยอีกต่อหนึ่งทั้งสิ้น แม้นางดัยนาจะเบิกความอยู่ตอนหนึ่งว่าระหว่างทำการขายหุ้นของบริษัทเจแอนด์เจโฮ จำกัด ตามคำสั่งจำเลยนั้น จำเลยได้โทรศัพท์มาถาม นายดัยนาได้ตอบไปว่าขายได้ 1,700 หุ้นและราคา หุ้นของบริษัทนี้กำลังจะสูงขึ้นอีก นางดัยนาจึงถามจำเลยว่าหุ้นที่เหลือ 1,300 หุ้น จะให้ขายไปเลยหรือไม่ จำเลยตอบว่าพอแล้วข้อความดังกล่าวขัดกับข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยข้อ 33(3) ที่ว่า การสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์ต้องกระทำผ่านสำนักงานของสมาชิกเท่านั้น แสดงว่าลูกค้าไม่มีสิทธิติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ตลาดหลักทรัพย์ และการขายหุ้นพิพาทในคดีนี้เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วว่าเป็นการขายโดยที่จำเลยไม่มีใบหุ้นมาให้ขาย ดังนั้นข้อความที่ นางดัยนาอ้างว่าได้ถามจำเลยว่าหุ้นของบริษัทเจ แอนด์ เจโฮ จำกัด ที่เหลืออีก 1,300 หุ้น จะให้ขายไปเลยหรือไม่ จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะได้โทรศัพท์ไต่ถามนางดัยนาโดยตรงเกี่ยวกับการขายหุ้นรายนี้จริงและดังนั้น คำพยานโจทก์ที่อ้างว่าติดต่อกับจำเลยโดยตรง จึงคงมีแต่คำนายเกริกชัย ได้ความจากนายเกริกชัยว่า ที่จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นพิพาทไม่ว่าจะเป็นวันที่ 27 กันยายน 2520 หรือวันที่ 4 และ 5 ตุลาคม 2520 ก็ตามล้วนแต่จำเลยสั่งขายทางโทรศัพท์ทั้งสิ้น ส่วนเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อจำเลยสั่งขายหุ้นและนายเกริกชัยรับคำสั่งแล้วก็จะแจ้งให้คนของโจทก์ที่ประจำอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์ แล้วคนของโจทก์ก็จะบันทึกลงในคำสั่งซื้อขายของบริษัทโจทก์ เมื่อขายได้แล้วก็ต้องจดแจ้งลงในรายการที่กระดาษบันทึกของตลาดหลักทรัพย์ แต่โจทก์ไม่ได้อ้างมาเป็นพยานหลักฐาน หลังจากนั้นจึงมีการทำสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อ แล้วจึงมีการบันทึกลงในบันทึกลูกหนี้ซื้อขายหลักทรัพย์เกินบัญชี ได้ความจากนางดัยนา พยานโจทก์ว่าคนของโจทก์จะต้องทำตามวิธีการดังกล่าวทุกครั้งที่มีการสั่งขายหุ้นพิพาทแต่นางดัยนาเองก็เบิกความ ยอมรับว่าเอกสารที่ฝ่ายโจทก์ทำขึ้นดังกล่าวทั้งหมด เว้นแต่เอกสารหมาย จ.2 หนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.3 คำขอเป็นลูกหนี้เกินบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ และเอกสารหมายจ.6 และ จ.7 ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียวทั้งสิ้น ซึ่งจำเลยเองก็ได้นำสืบปฏิเสธตลอดมาว่าจำเลยไม่ได้สั่งขายหุ้นทางโทรศัพท์และปฏิเสธเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียวดังกล่าวด้วยและจากเอกสารฝ่ายเดียวที่โจทก์ทำขึ้นดังกล่าวก็ล้วนแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้มีพยานหลักฐานทุกขั้นตอนของการขายหุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อตามเอกสารหมายจ.74-จ.106 มีข้อความชัดว่า ผู้ขายและผู้ซื้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ซึ่งออกใช้บังคับโ่ดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทุกประการ มีช่องลายมือชื่อทั้งผู้ซื้อและผู้ขายแต่ในกรณีที่มีการขายหุ้นพิพาท นายเกริกชัยกลับเบิกความยอมรับว่า เมื่อจำเลยมาพบนายเกริกชัยที่บริษัทโจทก์ก็ได้ทำใบสั่งซื้อสั่งขายให้จำเลยลงนาม แต่ในกรณีการขายหุ้นพิพาทโจทก์ไม่ได้ให้จำเลยทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ โดยนายเกริกชัยไม่ได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ประกอบกับการสั่งขายหุ้นพิพาทโจทก์เองก็ยอมรับว่าจำเลยไม่มีใบหุ้นที่จะขาย ซึ่งนางดัยนาพยานโจทก์ก็ได้เบิกความไว้ว่ากรณีโจทก์รู้ว่าจำเลยไม่มีใบหุ้นแห่งประเทศไทย ข้อ 33(2) มีความว่าห้ามสมาชิกทำการขายหลักทรัพย์โดยที่สมาชิกยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง หรือมิได้มีบุคคลแล้วโจทก์ยังเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ก็ถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง หรือมิได้มีบุคคลใดมอบหมายให้ขายหลักทรัพย์นั้นการมอบหมายให้ขายหลักทรัพย์ตามที่กล่าวข้างต้น สมาชิกต้องเรียกให้บุคคลผู้มอบหมายนำใบหุ้นหรือใบตอบรับการโอนหุ้นที่นายทะเบียนเป็นผู้ออกหรือเอกสารอื่นใดที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งแสดงว่าบุคคลนั้นอยู่ในครอบครองมามอบไว้ให้แก่สมาชิก ฉะนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์จะกล้าขายหุ้นให้จำเลยโดยที่จำเลยไม่มีใบหุ้นมาให้ขายโดยอ้างแต่เพียงว่า จำเลยจะนำใบหุ้นมามอบให้ภายหลังดังโจทก์ฎีกา เพราะโจทก์เองก็ยอมรับว่าเมื่อทำการขายหุ้นให้ผู้ซื้อแล้ว โจทก์จะต้องส่งมอบใบหุ้นที่ขายให้ผู้ซื้อภายใน 4 วัน ตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ เมื่อจำเลยไม่มีใบหุ้นพิพาทจะส่งมอบ โจทก์ก็คงอ้างแต่เพียงว่าได้มีการตกลงกันด้วยวาจาว่ายังไม่ต้องส่งมอบทั้งฝ่ายจำเลยผู้ขายและฝ่ายผู้ซื้อก็ยังไม่ต้องการรับมอบ อันมีผลเท่ากับเป็นการขายตัวเลขไม่ใช่ขายหุ้นตามความหมายของตลาดหลักทรัพย์ นอกจากโจทก์จะกล่าวอ้างเอาง่าย ๆ ว่าได้มีการตกลงฝ่าฝืนข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยวาจาแล้ว ยังปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้อีกว่า จำเลยนำหลักทรัพย์มาประกันต่อโจทก์ โดยนำเงินมาฝากโจทก์ และโจทก์ออกเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7 โดยมีวงเงินเพียง406,500 บาท เท่านั้น แต่โจทก์กลับอ้างว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นซึ่งหลังจากหักค่านายหน้าของโจทก์ออกแล้วเป็นเงินถึง 6,158,251 บาทซึ่งหากเป็นจริงดังโจทก์อ้างก็จะทำให้โจทก์ต้องหาซื้อหุ้นมาให้ผู้ซื้อแทนจำเลยมากกว่าหลักประกันที่จำเลยวางไว้กับโจทก์มากโดยโจทก์อ้างเพียงว่าเพราะเชื่อถือจำเลยซึ่งก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีสิ่งใดซึ่งจะให้โจทก์เชื่อถือนอกจากเงินที่ฝากโจทก์ไว้จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้นที่โจทก์ผู้ค้าหลักทรัพย์จะยอมขายหุ้นให้จำเลยโดยจำเลยไม่มีใบหุ้น จะขายทางโทรศัพท์หลายครั้งตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2520 จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2520 โดยที่วันที่ 27กันยายน 2520 ที่จำเลยสั่งขายหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัดจำเลยก็ไม่มีใบหุ้น และไม่ส่งมอบใบหุ้นอยู่แล้ว ครั้งวันที่ 4 และวันที่ 5 ตุลาคม 2520 โจทก์ก็ยังดำเนินการขายหุ้นบริษัทเจแอนด์เจโฮ จำกัด หุ้นของบริษัทชลประทานซิเมนต์ จำกัดหุ้นของบริษัทเอเซียไฟเบอร์ จำกัด และหุ้นของบริษัทจรุงไทย ไวร์ แอนด์ เคเบิ้ล จำกัด ต่อไปอีก เป็นจำนวนเงินมากกว่าหลักทรัพย์ที่จำเลยวางไว้ต่อโจทก์มากกว่ามากดังกล่าวแล้ว ดังนั้นข้ออ้างว่าเพราะมีความเชื่อถือต่อกันตามฎีกาของโจทก์ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้สั่งให้โจทก์ขายหุ้นจริงตามฟ้อง ดังนั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไปอีกศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share