คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้ง ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้ร้องแต่ ผู้เดียวมิได้อ้างว่าเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย หากพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องใช้ กลฉ้อฉล ให้ผู้ตายทำขึ้น ผู้ร้องอาจถูก กำจัดมิให้รับมรดกฐาน เป็นผู้ไม่สมควร และอาจเป็นเหตุให้ไม่สมควรตั้ง ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ตรงกันข้ามถ้าพินัยกรรมนั้นสมบูรณ์ ทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายย่อมตก ได้แก่ผู้ร้องแต่ ผู้เดียว ผู้คัดค้านย่อมไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิคัดค้าน ฉะนั้นปัญหาว่าพินัยกรรมตาม คำร้องมีผลบังคับได้ ตามกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลจะต้อง วินิจฉัยประกอบประเด็นที่ว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดก.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอ้างเหตุว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องแต่ผู้เดียว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมของผู้ตายเกิดขึ้นจากกลฉ้อฉลของผู้ร้องไม่มีผลบังคับได้ ทรัพย์สินของผู้ตายทั้งหมดเป็นมรดกไม่มีพินัยกรรมที่ผู้คัดค้านมีสิทธิแต่ผู้เดียว ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทโดยธรรม มีส่วนได้เสียในทรัพย์อันเป็นมรดกของผู้ตายด้วยกันสมควรที่จะตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน ส่วนพินัยกรรมจะมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของคดีไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางสมพิศ มีมงคลผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมศักดิ์ ไสยวงศ์ ผู้ตาย ร่วมกับผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นทายาทโดยธรรมและพิพากษาตั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันโดยมิได้วินิจฉัยเรื่องพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างมาว่ามีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่นั้นไม่ชอบ เพราะผู้ร้องอ้างสิทธิขอเป็นผู้จัดการมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมเท่านั้น ผู้คัดค้านได้คัดค้านไว้แล้วว่าเป็นพินัยกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องผู้เดียว มิได้อ้างว่าเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย หากพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมที่ผู้ร้องใช้กลฉ้อฉลให้ผู้ตายทำขึ้น ผู้ร้องอาจถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1606(4) และอาจเป็นเหตุให้ไม่สาควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ตรงกันข้ามถ้าพินัยกรรมนั้นสมบูรณ์มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ ทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตายย่อมตกได้แก่ผู้ร้องแต่ผู้เดียวตามพินัยกรรมผู้คัดค้านย่อมไม่มีส่วนได้เสียและไม่มีสิทธิร้องคัดค้าน ฉะนั้นในปัญหาว่าพินัยกรรมตามคำร้องมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยประกอบประเด็นที่ว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดก การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์เพื่อพิพากษาใหม่.

Share