แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กระทรวงเศรษฐการรับซื้อข้าวจากชาวนาเพื่อพยุงราคาได้ขอความร่วมมือมายังจังหวัด จังหวัดแจ้งมายังอำเภอเพื่อให้ตรวจสอบรับรองว่าผู้ที่จะขายข้าวเป็นชาวนาทำนาและขายข้าวที่ทำได้เอง จำเลยเป็นประธานกลุ่มชาวนา ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิกที่จะขายข้าวและจำนวนข้าวที่จะขายกรอกแบบพิมพ์ยื่นต่อเจ้าหน้าที่เกษตรกรรมอำเภอ อันเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเมื่อจำเลยมิได้ปลอมลายมือชื่อของสมาชิกคนใดและไม่อาจรู้ว่าลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ย่อมไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแบบพิมพ์แล้วเสนอนายอำเภอ นายอำเภอตรวจแล้วเห็นว่าถูกต้อง จึงออกหนังสือรับรองให้มีสมาชิก 3 คนไม่ยอมเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายในการนำข้าวไปขาย จำเลยเอาข้าวของ 3 คนนั้นไปขายไม่ได้ จึงเอาข้าวของสมาชิกอื่นที่ไม่ได้ลงชื่อไปขายเพื่อให้ครบแต่การนำข้าวไปขายต่อคณะกรรมการสำรองข้าวนี้เป็นเพียงผลแห่งการแจ้งข้อความชั้นอำเภอมิได้มีการแจ้งข้อความอย่างใดต่อเจ้าพนักงานชั้นคณะกรรมการสำรองข้าวอีก จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จเช่นเดียวกัน
เรื่องเจตนาทุจริตไม่ใช่องค์ประกอบในความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ ประธานคณะอนุกรรมการพยุงราคาข้าวได้วางระเบียบการซื้อข้าวไว้ว่า ผู้ขายข้าวที่เป็นชาวนาหรือสถาบันชาวนาจะต้องมีหนังสือของนายอำเภอหรือได้รับมอบหมาย รับรองว่าผู้เสนอขายเป็นชาวนาหรือสถาบันชาวนา และข้าวเป็นของผู้เสนอขาย และต้องระบุรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ด้วย จำเลยเป็นสมาชิกและประธานกลุ่มชาวนา “พิบูลร่วมมิตร” ได้สมคบกับพวกหลายคนร่วมกันปลอมหนังสือลงในบัญชีสมาชิกที่ประสงค์จะขายข้าวให้คณะกรรมการสำรองข้าวกระทรวงเศรษฐการโดยปลอมข้อความทั้งหมดเกี่ยวกับนางนวล เสาร์แก้ว นายอ้วน บุญล้อม และนายบ่าย สุพรรณในบัญชีอันดับที่ 17, 37 และ 38 และเซ็นชื่อบุคคลดังกล่าวปลอม โดยเจตนาให้เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและนายอำเภอพิบูลมังสาหาร ซึ่งมีหน้าที่ในการนี้หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารอันแท้จริง การกระทำของจำเลยกับพวกน่าจะทำให้บุคคลและเจ้าพนักงานดังกล่าว ตลอดจนกระทรวงเศรษฐการได้รับความเสียหาย และต่อมาจำเลยได้นำหนังสือปลอมนั้นไปใช้ยื่นต่อนายสุรินทร์ ไชยแสงราช นายมานพ ทวีสุข เจ้าหน้าที่เบื้องต้นของอำเภอพิบูลมังสาหารและนายปรีชา คชพลายุทธ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร ยืนยันว่าเป็นการถูกต้องแท้จริงตามเอกสารนั้น นายอำเภอพิบูลมังสาหารหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงได้ออกหนังสือรับรองให้ และมอบให้จำเลยพร้อมกับหนังสือปลอมนั้นเพื่อให้จำเลยดำเนินการขายข้าวต่อไป ต่อมาจำเลยได้นำหนังสือดังกล่าวทั้งสองฉบับไปยื่นต่อนายชม แก้วสิทธิ์ หัวหน้าแผนกสินค้าทั่วไป ช่วยราชการคณะกรรมการสำรองข้าว และยื่นต่อเลขานุการคณะกรรมการสำรองข้าวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติรับซื้อข้าว เพื่อเสนอขายข้าวเปลือกของกลุ่มชาวนาเป็นจำนวน 296 เกวียน บุคคลดังกล่าวหลงเชื่อจึงอนุมัติให้รับซื้อข้าวตามจำนวนดังกล่าวจากจำเลย จำเลยจึงได้นำข้าวเปลือกไปขายรวม 9 ครั้ง เป็นจำนวนข้าวเปลือก 297.21 เกวียน เป็นเงิน 312,070.50 บาท การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานและนายอ้วน บุญล้อม นางนวล เสาร์แก้ว นายบ่าย สุพรรณ ซึ่งถูกปลอมชื่อและจำนวนข้าวเอาสิทธิไปขายโดยเจ้าตัวมิได้ขายข้าวให้ แต่จำเลยกับพวกเอาข้าวของผู้อื่นไปขายแทนได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 137, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 3 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยนำข้าวของผู้อื่นไปขายแทนข้าวผู้เสียหาย ฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาแจ้งความเท็จเสียด้วย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานแจ้งความเท็จตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยได้ยื่นแบบพิมพ์หมาย จ.1 ต่อเจ้าพนักงานอำเภอพิบูลมังสาหาร แสดงรายชื่อสมาชิกกลุ่มชาวนาที่ประสงค์จะขายข้าวให้คณะกรรมการสำรองข้าว นายอำเภอพิบูลมังสาหารตรวจสอบเห็นว่าถูกต้องจึงได้ออกหนังสือรับรองตามเอกสาร จ.2 มอบให้จำเลยเพื่อแสดงต่อคณะกรรมการสำรองข้าว คณะกรรมการสำรองข้าวตกลงรับซื้อ จำเลยได้นำข้าวไปขายตามที่เสนอ แต่มิได้เอาข้าวของบุคคล 3 คนที่มีชื่อในบัญชีไปขาย เอาข้าวของผู้อื่นไปขายแทน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะบุคคลทั้งสามไม่ยอมให้หักค่าใช้จ่ายในการนำข้าวไปขายกรุงเทพฯ วินิจฉัยว่าการที่จำเลยยื่นแบบพิมพ์หมาย จ.1 เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน แต่เมื่อข้อเท็จจริงถึงที่สุดในศาลชั้นต้นแล้วว่าเอกสารนั้นจำเลยมิได้ปลอม และจำเลยไม่อาจรู้ได้ว่าเป็นเอกสารปลอม ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยยื่นแบบพิมพ์นั้นโดยจำเลยเชื่อว่าเป็นความจริง ไม่มีเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ย่อมไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ แม้ต่อมาจำเลยจะเอาข้าวของบุคคลอื่นไปขายแทนข้าวของบุคคลบางคนที่มีชื่อในบัญชี เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ยอมเสียค่าใช้จ่ายในการนำไปขาย ก็มิใช่การแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงาน เพราะการแจ้งข้อความนั้นเสร็จสิ้นแล้วคือตั้งแต่ขั้นที่จำเลยแจ้งต่ออำเภอ การนำข้าวไปขายต่อคณะกรรมการสำรองข้าวเป็นเพียงผลแห่งการแจ้งข้อความชั้นอำเภอ มิได้มีการแจ้งข้อความอย่างใดต่อเจ้าพนักงานชั้นคณะกรรมการสำรองข้าวอีก จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จเช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องเจตนาทุจริตตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น ไม่ใช่องค์ประกอบในความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษไม่จำต้องพิจารณา
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องในความผิดฐานแจ้งความเท็จ
พิพากษายืน