แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายวันของจำเลย วันไหนไม่ไปทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง โจทก์ไม่ได้ไปทำงาน 1 วันโดยลาป่วยเท็จแต่รับค่าจ้างของวันที่ตนลาป่วยเท็จนั้นทั้งที่รู้ว่าไม่มีสิทธิจะได้รับ ดังนี้ การกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการลาป่วยเท็จอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนต่อกฎระเบียบและคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และจงใจเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หาใช่เป็นการแจ้งเท็จหรือรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาเพียงประการเดียวซึ่งมีโทษตัดค่าจ้างตามระเบียบของจำเลยเท่านั้นไม่ การที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานจึงชอบด้วยข้อบังคับที่ให้อำนาจจำเลยไล่ลูกจ้างที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงออกจากงานได้แล้ว มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเช่นนี้จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องตักเตือนก่อนและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำรายวันต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองลาป่วยเท็จ ซึ่งไม่เป็นความจริง มิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ทั้งยังเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยไม่เคยประกาศหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสองเลยขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสองลาป่วยเท็จและได้รับค่าจ้างในวันลาป่วย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือระเบียบการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงหรือทำประการอื่นอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสอง ประเด็นพิพาทข้อนี้จึงเป็นอันระงับไปแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองลาป่วยอันเป็นเท็จและได้รับค่าจ้างสำหรับวันที่ลาป่วยไป เป็นการฝ่าฝืนระเบียบ ฯ จำเลยลงโทษไล่ออกได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้ค่าสินไหมทดแทนการเลิกจ้างมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำรายวันเมื่อวันที่ 12 มกราคม2529 โจทก์ทั้งสองให้พนักงานอื่นช่วยแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองป่วยแล้วร่วมกับพนักงานอื่นไปบางแสนเพื่อประชุมใหญ่สหภาพแรงงาน ฯ ซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกครั้นวันรุ่งขึ้นโจทก์ทั้งสองไปทำงานพร้อมยื่นใบลาป่วย ในวันเดียวกันหัวหน้าฝ่ายบุคคลได้สอบสวนโจทก์เกี่ยวกับการลาป่วย โจทก์ทั้งสองยืนยันว่าป่วยจริง ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้รับค่าจ้างสำหรับวันที่ตนลาป่วยนั้นไปด้วย ต่อมาเมื่อสอบสวนเสร็จจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองระบุเหตุว่าโจทก์ทั้งสองมิได้ป่วยจริงตามใบลา ถือว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยจงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหายเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถือว่ามีเจตนาทุจริตค่าจ้าง จึงลงโทษไล่โจทก์ทั้งสองออกจากการเป็นลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ว่าด้วยวินัยและการลงโทษกำหนดไว้ในหมวดที่ 8 โดยข้อ 8.1 กำหนดการกระทำผิดวินัยไว้ 45 ประการแม้การแจ้งหรือรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาเป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อ 8.1.9 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ประการหนึ่งก็ตาม แต่โดยที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำรายวัน ลักษณะการจ้างถือเอาการทำงานแต่ละวันเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าจ้าง วันไหนไม่ได้ทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง การที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ไปทำงานในวันที่ 12มกราคม 2529 เพราะลาป่วยเท็จแต่ในวันจ่ายค่าจ้างประจำงวดโจทก์ทั้งสองต่างได้รับค่าจ้างในวันที่ตนลาป่วยเท็จนั้นไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าตนไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในวันนั้นจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการลาป่วยเท็จของตนอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ8.1.20 เป็นการกระทำโดยจงใจจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายตามข้อ 8.1.22 และเป็นการฝ่าฝืนต่อกฏระเบียบข้อบังคับของบริษัท และคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามข้อ 8.1.15 โดยที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสองในวันที่ลาป่วยเท็จแต่อย่างใด การจ่ายเงินค่าจ้างดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงมีโทษถึงไล่ออกตามข้อ 8.2.7 หาใช่เป็นแต่เพียงการแจ้งเท็จหรือรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาตามข้อ 8.1.9 อันเป็นการผิดวินัยเพียงประการเดียวและจะต้องถูกลงโทษตัดค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการลงโทษข้อ 8.3 ลำดับที่ 10 เสียก่อนดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ไม่ดังนั้นการที่จำเลยลงโทษไล่โจทก์ทั้งสองออกจากงานจึงชอบด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 8.2.7 ที่ว่าการลงโทษไล่ออกจะกระทำเมื่อพนักงานคนงานได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่าการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งสองไม่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่ได้ตักเตือนก่อน ไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47 (3) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสองนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากศาลฎีกาได้วินิจฉัยอุทธรณ์ประการแรกแล้วว่า การกระทำผิดวินัยของโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอันมีโทษสถานหนักถึงไล่ออกอันเป็นกรณีร้ายแรงแล้วเช่นนี้ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยหาจำต้องตักเตือนก่อนไม่ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษายืน.