คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเลิกจ้างโจทก์สืบเนื่องมาจากจำเลยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานทั้งหมด ต้องลดอัตรากำลังลูกจ้างลง ทำให้ต้องยุบหน่วยงานและลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย มีการปรับลดหน่วยงานทั้งบริษัทจากระดับแผนกหรือฝ่ายลงเหลือเพียงระดับงาน รวมทั้งฝ่ายจัดซื้อที่โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายก็ถูกปรับลดลงเป็นงานจัดซื้อ ไม่มีตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออีกต่อไป การดำเนินการทั้งหมดจำเลยไม่ได้เลือกปฏิบัติเลิกจ้างเฉพาะโจทก์รายเดียว ดังนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 4,128,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ให้เหมาะสม เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมหรือชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานและลดอัตรากำลังลูกจ้างลง ทำให้ต้องยุบและลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย โดยปรับลดหน่วยงานทั้งบริษัทจากระดับแผนกหรือฝ่ายเหลือเพียงระดับงาน ให้หน่วยงานมีขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ง่ายต่อการควบคุมดูแลทางด้านการบริหารงานและลดการทุจริต ในฝ่ายจัดซื้อที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย จำเลยปรับเปลี่ยนโครงสร้างเหลือเพียงระดับงานจัดซื้อไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร พนักงานจัดซื้อไม่มีอำนาจตัดสินใจในการจัดซื้อ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามภาวะกระแสการแข่งขันทางธุรกิจของโลกปัจจุบันที่ทวีการแข่งขันสูงขึ้น ทั้งเป็นการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตลง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติให้เลิกจ้างเฉพาะโจทก์คนเดียว เห็นว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์สืบเนื่องมาจากจำเลยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานทั้งหมด ต้องลดอัตรากำลังลูกจ้างลง ทำให้ต้องยุบหน่วยงานและลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย มีการปรับลดหน่วยงานทั้งบริษัทจากระดับแผนกหรือฝ่ายลงเหลือเพียงระดับงาน รวมทั้งฝ่ายจัดซื้อที่โจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายก็ถูกปรับลดลงเป็นงานจัดซื้อ ไม่มีตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออีกต่อไป การดำเนินการทั้งหมดจำเลยไม่ได้เลือกปฏิบัติเลิกจ้างเฉพาะโจทก์รายเดียว ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมหรือชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share