คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2121/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยโดยบรรยายฟ้องว่า เงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษ เงินสะสมค่าเครื่องแบบ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ ค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าภาษีเงินได้ ค่ารถประจำตำแหน่ง และโบนัสพิเศษ เป็นค่าจ้างต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย จำเลยให้การว่า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์มีความผิด โดยมิได้ต่อสู้ว่าเงินทั้ง 8 รายการดังกล่าวเป็นค่าจ้างหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ศาลย่อมต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยคำนวณจากอายุงานและค่าจ้างเป็นหลัก เมื่อรายการใดถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามกฎหมายอันจะพึงนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนนั้นการที่ศาลวินิจฉัยว่าเงินและสิ่งของที่โจทก์ได้รับรวม 8 รายการมิใช่ค่าจ้างจึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับประเด็น ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือเป็นเรื่องที่ถือว่าจำเลยยอมรับแล้ว
เงินรางวัลเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้จากผลกำไรซึ่งแล้วแต่ผู้บริหารจะกำหนดเองและไม่แน่นอน มิใช่เป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง ส่วนค่าครองชีพพิเศษก็มิได้แยกจำนวนไว้ต่างหากโดยกำหนดรวมไว้เป็นเงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษผลจึงเป็นว่าการจ่ายเงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารของจำเลยที่จะกำหนดและเป็นจำนวนไม่แน่นอน เงินประเภทนี้จึงมิใช่ค่าจ้าง
จำเลยได้จ่ายเงินสะสมสมทบโดยมิได้หักเงินเดือนของลูกจ้างและได้จ่ายสมทบนับแต่พนักงานของจำเลยได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำส่วนสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินสะสมก็ต่อเมื่อออกจากงาน หากออกจากงานก่อนครบ 5 ปี หรือออกเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประมาทเลินเล่อ หรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษาก็ไม่มีสิทธิได้รับนอกจากจำเลยจะพิจารณาเห็นสมควรเงินประเภทนี้จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานอันพึงถือว่าเป็นค่าจ้าง
ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ปีละ 1,000 บาท จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานบางระดับที่ไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่ง แต่สำหรับโจทก์ซึ่งมีรถยนต์ประจำตำแหน่งได้รับอนุมัติช่วยเหลือด้วย ซึ่งเป็นเพียงการช่วยเหลือในด้านสวัสดิการ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้าง
จำเลยเติมน้ำมันให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งมีจำนวนมากน้อยแล้วแต่การใช้งานแต่ไม่เกินเดือนละ300 ลิตร หากใช้น้อยก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนที่ใช้ยังไม่ครบ จึงเป็นจำนวนไม่แน่นอนและมิใช่การเหมาจ่าย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยอนุเคราะห์โจทก์เกี่ยวกับการใช้พาหนะ มิใช่เงินหรือสิ่งของที่จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานอันจะถือเป็นค่าจ้าง
ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกให้โจทก์โดยมิได้หักจากเงินเดือนของโจทก์ เป็นการที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างเต็มตามสัญญาจ้าง เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีพและดำรงฐานะให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ดียิ่งขึ้น เป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดหาให้แก่ลูกจ้าง มิใช่เป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้าง
จำเลยจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้โจทก์ได้ใช้ก็เพื่อประโยชน์ในการที่โจทก์ใช้เป็นพาหนะเพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนแม้บางเวลาโจทก์อาจนำไปใช้เป็นส่วนตัวได้บ้างก็เป็นเรื่องการอนุเคราะห์ในด้านความสะดวกสบายบางประการเท่านั้น กรณีไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพของการอำนวยประโยชน์ของความสะดวกสบายเช่นนี้มาเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนได้ จึงมิใช่ค่าจ้าง
เงินโบนัสไม่ใช่เงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายอย่างใดก็ได้ตามแต่นายจ้างจะเป็นผู้กำหนด และการจ่ายเงินโบนัสพิเศษก็เป็นไปตามดุลพินิจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยเป็นผู้กำหนดและเป็นจำนวนไม่แน่นอนจึงมิใช่ค่าจ้าง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกพยานเอกสารจากจำเลยหลายฉบับหลายครั้ง คำร้องทุกฉบับโจทก์ได้ชี้แจงแสดงเหตุที่จะต้องขอให้เรียกเอกสารจากจำเลย และศาลแรงงานกลางได้สอบถามรายละเอียดของข้อเท็จจริงในเอกสารต่าง ๆ จากโจทก์บ้าง แล้วมีความเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีและไม่มีความจำเป็นต้องนำสืบ ดังนี้เป็นการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานหลักฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อโจทก์ได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในเอกสารเหล่านั้นโดยไม่จำต้องอาศัยพยานเอกสาร การเรียกเอกสารดังกล่าวจึงไม่จำเป็นแก่คดี ศาลแรงงานกลางชอบที่จะสั่งยกคำร้องของโจทก์ได้
พยานเอกสารที่จำเลยนำมาสืบแม้เป็นเพียงภาพถ่ายมิใช่ต้นฉบับเอกสาร แต่เมื่อจำเลยส่งอ้างเป็นพยานต่อศาล โจทก์มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น พยานโจทก์และพยานจำเลยหลายปากก็ได้เบิกความรับรองและอ้างถึงเอกสารดังกล่าว ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าเอกสารนั้นมีอยู่จริงและมีข้อความตรงกับต้นฉบับ ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าภาพถ่ายเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวได้หาเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ โจทก์ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแต่เกิดขัดแย้งกับกรรมการผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจำเลย กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยจึงมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการธนาคาร ซึ่งไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานและไม่มีพนักงานใต้บังคับบัญชา โจทก์ได้รับมอบหมายให้ทำงานเพียง ๒ ครั้งในช่วงเวลา ๒ ปี จำเลยไม่พิจารณาขึ้นเงินเดือนให้โจทก์ ๒ ปีติดต่อกันแล้วมีหนังสือให้โจทก์ออกจากงาน เป็นการเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้งโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงานหากไม่อาจปฏิบัติได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยให้การว่า ตำแหน่งผู้ตรวจการธนาคารเป็นตำแหน่งสูงสุดในระดับผู้จัดการฝ่าย และอยู่ในระดับเดียวกับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบที่โจทก์เคยดำรงอยู่เดิม มีรายได้ สวัสดิการและสิทธิอื่น ๆ เท่าเดิม โจทก์ไม่ยอมทำงาน เมื่อจำเลยเตือนโจทก์ โจทก์เสนองานที่ไม่มีคุณภาพไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ธนาคาร จำเลยจึงพิจารณาไม่ขึ้นเงินเดือนให้โจทก์ ๒ ปีติดต่อกัน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่โจทก์จะถูกเลิกจ้างตามคำสั่งของธนาคารที่๑๓๒/๒๕๒๓ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เพราะการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างซึ่งได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง และไม่อาจรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การโยกย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการธนาคารชอบด้วยระเบียบปฏิบัติ ฟังไม่ได้ว่าผู้บริหารระดับสูงของจำเลยสมคบกันกลั่นแกล้งโยกย้ายโจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ไม่มีผลงานจึงไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน ๒ ปีติดต่อกัน คำสั่งเลิกจ้างโจทก์มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่บริหารชั้นสูงของจำเลย จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ๖ เดือน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑ เดือน ซึ่งจำเลยคำนวณจากเงินเดือน ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถยนต์ และโจทก์ได้รับไปแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยโดยบรรยายฟ้องว่า เงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษ เงินสะสม ค่าเครื่องแบบ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ ค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าภาษีเงินได้ ค่ารถประจำตำแหน่งและโบนัสพิเศษ เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โดยมิได้ต่อสู้ว่า เงินจำนวนใดเป็นค่าจ้างดังนี้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานนั้น ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง และการคำนวณค่าชดเชยนั้นก็ต้องเป็นไปตามข้อ ๔๖ ซึ่งกำหนดว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้าง โดยถือหลักอายุงานของลูกจ้างเป็นเกณฑ์จ่าย ดังนั้น ค่าชดเชยที่ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเพียงใดจึงต้องคำนวณโดยถืออายุงานและค่าจ้างเป็นหลักและตามข้อ ๒ ได้ให้คำวิเคราะห์ศัพท์คำว่าค่าจ้างไว้ว่าหมายความว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และหมายความรวมถึงเงิน หรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เช่นนี้ เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยแล้ว ศาลก็ย่อมต้องพิจารณาต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเป็นจำนวนเงินเท่าใดโดยคำนวณตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น เมื่อรายการใดถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามกฎหมายอันพึงนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายในเงินจำนวนนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินและสิ่งของที่โจทก์ได้รับรวม ๘ รายการมิใช่ค่าจ้างจึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับประเด็น กรณีหาใช่เป็นเรื่องนอกประเด็นหรือเป็นเรื่องที่ถือว่าจำเลยยอมรับแล้วไม่
เงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษ ซึ่งเงินรางวัลเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้จากผลกำไรซึ่งแล้วแต่ผู้บริหารจะกำหนดเอง และไม่แน่นอนมิใช่เป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง ส่วนค่าครองชีพพิเศษก็มิได้มีการแยกจำนวนกันไว้ต่างหากว่าโจทก์จะได้รับเป็นเงินปีละเท่าใด จำเลยได้กำหนดรวมไว้เป็นเงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษเท่านั้น จึงไม่อาจแบ่งแยกให้เห็นกันได้โดยชัดแจ้ง เมื่อจำนวนเงินยังคงรวมกันอยู่เช่นนี้ ผลจึงเป็นว่าการจ่ายเงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษจึงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารของจำเลยที่จะกำหนดและเป็นจำนวนไม่แน่นอนด้วย ดังนั้นเงินประเภทนี้จึงมิใช่ค่าจ้าง
เงินสะสม จำเลยได้ถือปฏิบัติตามระเบียบธนาคารทหารไทย จำกัด ว่าด้วยเงินทุนสะสม พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะผดุงฐานะพนักงานของธนาคารเมื่อออกจากงานด้วยวิธีให้มีเงินทุนสะสมไว้เป็นบำเหน็จตามสมควร จำเลยได้จ่ายเงินสะสมสมทบโดยมิได้หักจากเงินเดือนของลูกจ้าง และได้จ่ายสมทบนับแต่พนักงานของจำเลยได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ ส่วนสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินสะสมก็ต่อเมื่อออกจากงาน แต่ถ้าหากลูกจ้างลาออกจากงานก่อนครบกำหนด ๕ ปี หรือออกตามคำสั่งของธนาคารเพราะกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ หรือประมาทเลินเล่อ หรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษา ลูกจ้างผู้นั้นไม่มีสิทธิได้รับนอกจากจำเลยจะพิจารณาตามที่เห็นสมควร เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าเงินประเภทนี้มิใช่เงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน อันพึงถือว่าเป็นค่าจ้างด้วย
ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ จำเลยจะจ่ายเงินประเภทนี้ให้แก่พนักงานบางระดับที่ไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่ง แต่สำหรับโจทก์นี้เป็นกรณีที่ผู้จัดการฝ่ายอำนวยการกลางของจำเลยได้อนุมัติให้โจทก์ได้รับการช่วยเหลือเช่นเดียวกับพนักงานชั้น ก.เท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าจำเลยจ่ายเงินประเภทนี้ให้แก่โจทก์ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือโจทก์ในด้านสวัสดิการ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามกฎหมาย
ค่าน้ำมันรถยนต์เดือนละ ๓๐๐ ลิตร จำเลยเติมน้ำมันให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งซึ่งจะมีจำนวนมากหรือน้อยก็ย่อมแล้วแต่การใช้งานซึ่งจะไม่เกินเดือนละ ๓๐๐ ลิตร หากใช้น้อยโจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนที่ใช้ยังไม่ครบนั้น ดังนั้นการจ่ายน้ำมันของจำเลยให้แก่โจทก์จึงเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอนและมิใช่เป็นการเหมาจ่าย กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเลยอนุเคราะห์โจทก์เกี่ยวกับการใช้พาหนะ เงินประเภทนี้จึงมิใช่เงินหรือสิ่งของที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานอันจะถือเป็นค่าจ้าง
ค่าภาษีเงินได้ เห็นว่าการเสียภาษีเงินได้นี้ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องเสียต่อกรมสรรพากร และโดยทั่วไปแล้วในแต่ละปีผู้มีรายได้จะเสียในจำนวนที่ไม่แน่นอนซึ่งขึ้นอยู่กับรายได้ สิทธิในการได้รับการหักลดหย่อนต่าง ๆ และตามอัตราที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ จำเลยได้จัดให้มีขึ้นก็เป็นเพียงการช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างได้เต็มอัตราตามสัญญาจ้าง เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีพและดำรงฐานะให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ดียิ่งขึ้น เงินประเภทนี้จึงเป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดหาให้แก่ลูกจ้าง มิใช่เป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้าง
ค่ารถยนต์ประจำตำแหน่ง เห็นว่า การที่จำเลยจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้โจทก์ได้ใช้ก็เพื่อประโยชน์ในการที่โจทก์ใช้เป็นพาหนะมายังสำนักงานและเพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตน แม้บางเวลาโจทก์อาจนำไปใช้เป็นส่วนตัวได้บ้างก็เป็นเรื่องการอนุเคราะห์ในด้านความสะดวกสบายบางประการเท่านั้นกรณีไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพของการอำนวยประโยชน์ของความสะดวกสบายเช่นนี้มาเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน มิฉะนั้นแล้วสิ่งอื่นใดที่เป็นการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานก็จะถือเป็นค่าจ้างไปเสียทั้งสิ้น เงินที่โจทก์เรียกร้องประเภทนี้จึงมิใช่ค่าจ้างตามกฎหมาย
โบนัสพิเศษเฉลี่ยรายปี เงินประเภทนี้เป็นเงินที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยจัดสรรจ่ายให้แก่ลูกจ้างจากกำไรสุทธิและมิได้จ่ายให้แก่พนักงานของจำเลยทุกคน เห็นว่า เงินโบนัสไม่ใช่เงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างหาก นายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายอย่างใดก็ได้ตามแต่นายจ้างจะเป็นผู้กำหนด และการจ่ายก็เป็นไปตามดุลพินิจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยเป็นผู้กำหนดและเป็นจำนวนไม่แน่นอน เงินประเภทนี้จึงมิใช่ค่าจ้าง
คำร้องของโจทก์ทุกฉบับ โจทก์ได้ชี้แจงแสดงเหตุที่จะต้องขอให้เรียกเอกสารจากจำเลย และศาลแรงงานกลางได้สอบถามรายละเอียดของข้อเท็จจริงในเอกสารต่าง ๆ จากโจทก์บ้าง และครั้งสุดท้ายตามคำร้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๒๗ นั้น โจทก์ก็ได้แสดงรายละเอียดและประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงได้รับจากเอกสารเหล่านี้โดยชัดแจ้ง ซึ่งศาลแรงงานได้พิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับคดีและไม่มีความจำเป็นต้องนำสืบเช่นนี้ เห็นว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานหลักฐานดังกล่าวนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ และศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในเอกสารเหล่านี้ในเรื่องอันเป็นสาเหตุที่จะฟังว่ามีการกลั่นแกล้งโจทก์ โดยไม่จำต้องอาศัยพยานเอกสาร การเรียกเอกสารดังกล่าวจึงไม่จำเป็นแก่คดี ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของโจทก์ชอบด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว
แม้เอกสารที่จำเลยนำมาสืบจะเป็นเพียงภาพถ่ายมิใช่ต้นฉบับเอกสารก็ตาม แต่เมื่อจำเลยส่งอ้างเป็นพยานต่อศาลโจทก์มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้นแต่ประการใดนอกจากนั้นพยานโจทก์และพยานจำเลยหลายปากก็ได้เบิกความรับรองและอ้างถึงเอกสารดังกล่าวไว้ ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวมีอยู่จริงและมีข้อความตรงกับต้นฉบับ ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าภาพถ่ายเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวได้หาเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๓ ไม่
พิพากษายืน.

Share